๓ ประโยชน์ ฝึก “กราบ” กำราบใจ

 

๓ ประโยชน์ ฝึก “กราบ” กำราบใจ

 

บทความนี้ขอนำเสนอความหมายและคุณค่าของจริยาหนึ่งในวัฒนธรรมไทยและสังคมพุทธศาสนา คือการ “กราบ” เราไม่เพียงกราบเพื่อเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อยำเกรงหรือสร้างอภินิหาร เพราะจริยาและมารยาทของสังคมไทยมักมีธรรมะอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เป็นกรอบธรรมเนียม “บังคับ” แต่เป็นหลัก “กำกับ” กายใจให้อยู่บนทางของความดี ความงาม และความจริง “กำราบ” ใจต้านทานกระแสของกิเลสและสิ่งมัวหมองทั้งหลาย
.
เรากล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ใน จริยธรรม ทั้งการประพฤติปฏิบัติทั้งหลาย ด้วยกาย วาจา และใจ ซึ่งมีหลักมารยาทและการประพฤติที่เหมาะสม เป็นดั่งการปฏิบัติธรรมระหว่างการใช้ชีวิต เพื่อสกัดกั้นกายใจมิให้มีโอกาสก่อทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่นในสังคม เป็นศีลครองตน และเป็นการภาวนาเพื่อขัดเกลาใจจากกิเลส
.
ทั้งนี้ในบทความได้ยกประโยชน์การ “กราบ” ในฐานะการฝึกจิตใจในชีวิตประจำวัน เป็นสามข้อ ดังนี้
.
.
๑ ลดความทุกข์จากการถือมั่นอัตตาตน : การกราบนั้นเป็นมากกว่าการไหว้ เพราะเราไม่เพียงแสดงความเคารพด้วยค้อมศีรษะลงเท่านั้น แต่ยังน้อมทั้งตัวลงกับพื้นที่ต่ำกว่าตนและคล้อยต่ำลงกว่าอีกฝ่าย เป็นการค้อมกายเพื่อฝึกน้อมใจค้อมลงต่ำ ดัดจิตผ่านจริยวัตรเป็นอุบาย
.
จิตคนนั้นมีแนวโน้มจะใฝ่มองสิ่งสูงกว่าตนและใฝ่หาสิ่งวิเศษอันเลอค่า แล้วเป็นทุกข์เพราะลืมความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันเป็นจริง ที่อยู่กับดินและเรียบง่าย ต้องเที่ยวมองขวนขวายไขว่คว้ามายาทั้งหลายมา จนเดือดร้อนเป็นทุกข์เพราะมิอาจรู้สึกพอใจในชีวิตอย่างแท้จริง
.
การถือมั่นในตน ยังเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่สำคัญ เพราะถือมั่นในตน จึงเห็นแก่ตัว และพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ได้แก่ตัว เมื่อไม่ได้แก่ตัวก็เป็นทุกข์ เมื่อใครทำสิ่งที่ขัดกับตัวก็เป็นทุกข์ ใครแสดงความคิดเห็นขัดแย้งใจตนก็เป็นทุกข์ เมื่อจะเสียตัวตนที่ยึดถือไปก็เป็นทุกข์ อารมณ์ลบและกิเลสตัณหาใดใดก็ล้วนเกิดขึ้นจากการถืออัตตาเป็นบ่อเกิด จึงกล่าวว่าการยึดติดในความเป็นตัวตนเป็นเหตุหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดในการเกิดทุกข์
.
ในวัฒนธรรมประเพณีทางพุทธศาสนาและหลายประเทศซีกโลกตะวันออก จึงมีการกราบเป็นการแสดงความเคารพนบน้อม เพื่อหล่อหลอมความเป็นชุมชนและอุบายในการฝึกลดละขัดเกลาการถือมั่นในตัวตน ทุกการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ทั้งข้อควรทำและข้อควรเลี่ยง ล้วนแล้วมุ่งไปสู่จุดเดียวคือการลดการถือมั่นในอัตตา เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ตามลำดับ
.
การกราบและการไหว้ เป็นการฝึกให้เราไม่ละเลยความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีใจงดงาม การอ่อนน้อมมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะการเข้าสังคมหรือดีต่อคนอื่นเท่านั้น แต่ผลดีที่สุดของการอ่อนน้อมและลดการถือตน คือตัวเราเองจะเป็นทุกข์น้อยลง ใช้ชีวิตด้วยความเย็นและสงบมากขึ้น หลีกเลี่ยงการทำร้ายผู้อื่นด้วยกาย วาจา และใจ และมีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเองมากกว่าการขาดความอ่อนน้อม
.
คนที่ถือมั่นในตนเองมากจึงไม่ค่อยมีโอกาสแก้ไขปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ ในชีวิต เพราะการไม่รับฟังใคร และการไม่รู้ทันว่า ตัวเราเองมักมีส่วนสำคัญในการเกิดปัญหาหนึ่งในชีวิตเสมอ เมื่อไม่ยอมปรับเปลี่ยนตนเอง ปัญหาเดิมก็ย่อมเกิดใหม่
.
ปัญหาบางเรื่องแก้ไขได้ไม่ยาก เหมือนกรงขังที่ล้อมคอกตัวเราไว้ เพียงแค่รู้จักตัวเล็ก เราก็ลอดและรอดได้แล้ว แต่ธรรมชาติของจิตเมื่อตามกิเลสก็จะไม่ยอมเล็กก็จะพยายามเบ่งสู้ จึงขังอยู่ในกรงอย่างนั้น การถือมั่นในตนเกินไปก็ทำให้เราไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหา แต่เรียกร้องให้คนอื่นแก้ไข
.
บางปัญหาเราไม่ใช่ฝ่ายผิด แต่การอ่อนน้อมก็มิใช่การยอมจำนน เราเป็นฝ่ายถูกก็เป็นทุกข์และก่อทุกข์ให้คนอื่นได้ การมีใครสักคนหนึ่งอ่อนน้อมลง ก็เป็นฝ่ายที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และเตือนให้อีกฝ่ายยอมลดตนลงร่วมแก้ไขปัญหา มากกว่าการทุ่มเถียงเพื่อหาผู้ชนะ เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าอีกฝ่ายจะกดข่มอัตตาตนเอง ความกลัวในจิตก็จะผลักดันให้ตอบโต้กลับหรือเบี่ยงเบนหนีปัญหา สถานการณ์ก็ย่อมไม่ดีขึ้น และเราก็เป็นทุกข์ แม้จะเป็นฝ่ายถูกต้องก็ตาม
.
เราจะอ่อนน้อมลงได้ ก็ต่อเมื่อเรายอมค้อมตัวลง ก้มตัวลงให้ต่ำลง กราบลงเพื่อเตือนจิตละวางอัตตา กำราบความอหังการและการถือดี กดตัวตนต่ำลง เพื่อบางสิ่งที่สูงขึ้น
.
การกราบเป็นแบบฝึกหัดของหัวใจ จึงมิใช่ประโยชน์เพื่อคนหรือสิ่งเคารพที่เรากราบไหว้เป็นหลัก แต่เป็นที่หัวใจเราเอง เราจะวางสิ่งของใดลงได้ เราต้องก้มกายลง เช่นเดียวกัน เราจะวางอัตตาลงได้ เราต้องฝึกน้อมตัวลงต่ำ ชีวิตที่ต่ำต้อยและติดดิน มีความสุขแท้ที่สัตว์ปีกทะยานบนฟ้าไม่อาจได้สัมผัส
.
.
๒ เคารพคุณค่าของกันและกัน : การกราบยังสอนเราให้ลดการเอาชนะของจิต ซึ่งมักพยายามควบคุมสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังใจ อยากให้ตัวเองมีคุณค่าและได้รับการเห็นคุณค่าอย่างที่อยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็น หรือตัณหาสามในหลักพุทธศาสนา ซึ่งการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นสิ่งสำคัญและเป็นบ่อเกิดของความสุข แต่หากเราจดจ่อแต่คุณค่าในตนเองมากเกินไป เราก็ย่อมเผลอทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ และบั่นทอนคุณค่าในตนเองลงได้เช่นกัน
.
ประเพณีการกราบผู้ใหญ่ และกราบพระภิกษุสงฆ์ นอกจากเป็นการฝึกให้อ่อนน้อมและวางตัวตน ยังเป็นการสอนใจเราเคารพในพระคุณของท่าน พาใจออกมาจากคุณค่าในตนเอง สยบยอมต่อคุณค่าซึ่งซ่อนในตัวผู้อื่นด้วย แม้เราอาจเพิ่งเคยเจอท่าน เช่นการกราบพระภิกษุที่เพิ่งพบกันเป็นครั้งแรก
.
แม้ไม่รู้จักกัน หรืออีกฝ่ายอาจทำดีกับเราบ้าง ทำไม่ดีกับเราบ้าง ท่านก็ยังมีพระคุณต่อตัวเรา หรือเป็นบทเรียนสอนใจแก่เราได้ อยู่ที่เราจะเลือกโฟกัสที่สิ่งใดในอีกฝ่าย และเปิดกว้างต่อกันหรือไม่ หรือตัดสินตีตราเขาไปแล้ว
.
การน้อมตัวลงต่อผู้อื่น เป็นการฝึกใจละวางอคติ เราอาจเคยมีภาพไม่ดีฝังใจต่อท่าน หรือคนแบบนี้ แต่สิ่งที่เราคิดกับความเป็นจริงมักไม่เหมือนกัน มุมมองด้านไม่ดีที่ฝังใจเรา อาจเป็นแค่ครึ่งเดียวของสิ่งท่านเป็นอยู่ หรือเป็นอดีตไปแล้ว เราเลือกโฟกัสมองด้านใดในตัวบุคคลคนนี้มากเท่าใด เราก็จะเห็นแต่สิ่งนั้นๆ ในตัวคนๆ นี้มากเท่านั้น จนหลงลืมด้านอื่นๆ ที่เขาก็เป็น
.
ยิ่งเราโฟกัสในด้านลบของคนอื่น ใจเราก็ย่อมไม่สงบ ใจเราก็ยิ่งปรุงแต่งไปในทางลบ ก่อก้อนความคิด ความรู้สึก และการกระทำในทางลบ ผ่านวาจาและกาย จนเราเองก็เป็นทุกข์
.
สิ่งผิดก็ว่าไปตามผิด หากเป็นหน้าที่ที่เราพึงกระทำได้ก็กระทำไปตามสมควร หากเราไม่สามารถแก้ไขท่านได้ ก็ทำเพียงสิ่งที่ทำได้โดยไม่ก่อทุกข์เพิ่มให้แก่กัน และเลือกส่งเสริมสิ่งที่ดีในตัวท่านให้งอกงาม ด้วยใจที่เคารพในคุณค่าที่ท่านมี แม้เราจะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม หากเราโฟกัสด้านลบของท่านหรืออีกฝ่ายมากเกินไป ก็อาจเผลอสื่อสารหรือกระทำในทางลบที่ยิ่งส่งเสริมด้านลบทั้งสองฝ่ายแผ่ขยาย จนสถานการณ์เลวร้ายลง
.
คนที่เคารพคนอื่นไม่ได้ เป็นคนที่ขาดความเคารพในตนเอง เพราะตัวเองก็ไม่อาจยอมรับในด้านลบกับข้อบกพร่องของตน และยังไม่อาจยอมรับความจริงของชีวิตตามที่เป็นจริง จึงมีความคิด วาจา และการกระทำ ในทางขาดความเคารพต่อผู้อื่น
.
.
๓ สยบยอมต่อความจริง : ภาษาอังกฤษของการ กราบ คือ “Prostrate” ยังมีความหมายถึงการยอมแพ้ และการทำลาย แต่การยอมแพ้ในที่นี้ไม่ใช่เรากราบผู้ใหญ่หมายถึงแพ้แก่ท่าน แต่เรายอมที่จะละวางความอยากดี อยากเด่น อยากเอาชนะของตนเอง ยอมแพ้ที่จะทำตามและทำลายการถือมั่นในตัวตน
.
การกราบพาตัวเราสัมผัสกับพื้นโดยไม่มีเงื่อนไข พาตัวใกล้ชิดกับพื้นดินอันเป็นธรรมชาติที่เรียบง่าย น้อมใจออกมาจากกรอบของการปรุงแต่งและความอยากอยู่เหนือธรรมชาติ เคารพผืนดินที่เราก่อเกิดมา ยอมแพ้ต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ดัดนิสัยของจิตมนุษย์ที่มักพยายามเอาชนะธรรมชาติและความจริงของชีวิต
.
การพยายามเอาชนะธรรมชาติของจิตใจคน แสดงผ่านออกมาจากการไม่ยอมรับความจริง การพยายามหนีทุกข์ กลัวความตาย ไม่ยอมรับความผิดหวังและความล้มเหลว เพราะใจยังขาดศรัทธาและความเคารพต่อธรรมชาติ แต่เราต่างรู้ว่าไมมีใครหนีความจริงที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่พ้น คือทุกสิ่งไม่แน่นอน มีวันเสื่อมและตายจาก และไม่ใช่ตัวตนให้ยึดมั่น
.
การฝึกกราบเป็นการพาตัวเราสัมผัสและยอมรับกับความจริง แม้เราจะพยายามทะยานสูงมากเพียงใด สุดท้ายกายใจก็เป็นผุยผงลงสยบต่อดินที่หนีจากมา
.
ยิ่งเป็นการกราบทั้งตัวที่เรียกว่า “อัษฎางคประดิษฐ์” แล้ว ยิ่งเป็นการกราบทั้งตัวลงนอนราบ ศิโรราบกับพื้นดิน สอนให้เราสยบยอมต่อความเป็นจริง แทนที่จะพยายามเอาชนะหรือควบคุมบังคับตามกิเลส สอนให้เปิดรับคุณค่าในทุกคนและทุกสิ่ง แม้มีดีมีเสียอยู่เป็นธรรมดา ไม่มีใครหรือสิ่งใดเป็นอย่างที่ใจเราหวังให้เป็นได้ทั้งหมด
.
เป็นธรรมดาที่จิตจะมีความหลง ความโกรธ และความโลภ มุ่งทะยานอยากให้ตนใหญ่ขึ้นหรือรักษาตัวตนของตนไว้ให้อยู่ในสภาพที่พอใจ ดิ้นรนและแข็งขืนต่อความจริงของชีวิตจนเป็นทุกข์ และผิดหวังล้มเหลวกับสิ่งต่างๆ แม้รอบกายอาจมีทรัพย์หรือสิ่งดีๆ อยู่มากก็ตาม
.
เราจึงควรฝึกใจกราบ กำราบความอยากในตนเอง และน้อมพาใจให้ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต อันเป็นเช่นนั้นเอง เพื่อความสุขแท้จริงของชีวิต
.
การฝึกกราบอย่างมีสติ คือการฝึกอย่างง่าย ที่สอนใจได้มากมาย หากกราบอย่างไม่งมงายเพื่ออภินิหาร แต่มุ่งกราบเพื่อสยบความแข็งกร้าวของหัวใจ ยอมแพ้ต่อความจริงที่ยิ่งใหญ่ อยู่อย่างตัวเล็กไว้ มิว่าอุปสรรคใดมาครอบดั่งกรงขังรายล้อม เราก็จะฝ่าออกไปได้เสมอ
.
.
#คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
ตอนที่ ๓๐
.
โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่
{ ติดตามการอบรม #เขียนเปลี่ยนชีวิต และบทความ }
www.dhammaliterary.org