๔ สิ่งที่ความป่วยกายสอนหัวใจ (ตอนแรก)

 

 

๔ สิ่งที่ความป่วยกายสอนหัวใจ (ตอนแรก)

 

เวลาที่เราเจ็บป่วย นั่นเป็นโอกาสที่ดีที่ตนจะได้เรียนรู้ธรรมะและความจริงจากร่างกายเรานี้เอง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนมีความหมาย ดังนั้นแล้วโรคและความป่วยไข้ต่างเป็นแขกมาเยือนแก่เรา เพื่อมอบความตระหนักรู้ที่ล้ำค่าแก่ชีวิต ชนิดที่เราเองก็อาจหลงลืมหรือละเลยไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา
.
หากเราเข้าใจและฝึกใจน้อมรับสารเหล่านี้ การมีชีวิตอย่างสุขสงบและอิสระ ท่ามกลางความไม่เที่ยงแท้ต่างๆ ของโลก ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม การป่วยไข้ในแต่ละครั้งก็จะมิใช่เพียงสิ่งที่เราพยายามหนีให้พ้น แต่เป็นการเข้าห้องสอบของชีวิต เพื่อผลปลายทางสุดท้ายคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
.
.
๑ คุณค่าชีวิตยังมีอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ใฝ่หา : เราหลายคนพยายามทำงานวันแล้ววันเล่าเพื่อคุณค่าของชีวิตที่เป้าหมาย เช่น ความสำเร็จ การยอมรับจากคนรอบข้าง ทรัพย์สินเงินทอง สถานะทางสังคม การเป็นผู้ให้ หรือได้ค้นพบศักยภาพในตนเอง เราอาจมีความสุขเมื่อไปถึงเป้าหมาย หรือสุขที่ได้สัมผัสใกล้เป้าหมายมากขึ้นตามลำดับ แต่ท้ายที่สุดความทุกข์ในร่างกายก็จะฉุดชวนเรากลับมาทบทวน ไม่วันใดก็วันหนึ่งว่า ชีวิตสำคัญน้อยกว่าความสำเร็จหรือสิ่งที่หวังนั้นใช่หรือไม่ หากเราไม่มีชีวิต เป้าหมายหรือสิ่งที่หวังนั้นยังมีประโยชน์อยู่หรือไม่
.
ความสุขและความพอใจที่ฉวยคว้ามาได้ จะเหลืออยู่จีรังเพียงใด เมื่อชีวิตกำลังหมดลมหายใจหรือร่างกายไม่อาจมีสมบูรณ์ครบเหมือนเดิม
.
เมื่อใดที่ตาชั่งคุณค่าของชีวิตเอนเอียงไปทางใดมากเกินไป เมื่อนั้นย่อมเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์และปัญหาทางสุขภาพกายกับใจติดตามมา
.
สำหรับบางคนแล้วคุณค่าชีวิตอยู่ที่การดูแลใส่ใจผู้อื่น จนวันหนึ่งไม่แก้ไขปัญหาของชีวิตตนเองได้เลย ขณะเที่ยวแก้ปัญหาให้ใครอื่น หรือแบกรับความคาดหวังจากใครๆ จนหัวใจอ่อนล้าและหลงลืมว่า แท้จริงแล้วตัวเองต้องการอะไร ซึ่งบางครั้งการใส่ใจผู้อื่น เราก็ทำเพื่อความสุขของตนเอง แต่ไม่ได้มองความสุขหรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขา ณ ตอนนั้น โดยที่เราอาจก้าวก่ายเขามากเกินไป เช่นนี้แล้วเราอาจลืมว่าคุณค่าของชีวิตไม่ได้มีแค่การให้คนอื่นเท่านั้น แต่ต้องฝึกให้ตัวเองเป็นอีกด้วย
.
ชีวิตคนมีสิ่งภายนอกให้ยุ่งวุ่นวายจัดการดูแลมากมาย จนหลายครั้งเราก็หลงลืมว่า คุณค่าและสิ่งสำคัญในชีวิตคือสิ่งที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด นั่นคือ จิตใจ และ ร่างกายตนเอง เราได้ดูแลอย่างสมดุลหรือไม่หากเทียบกับสิ่งนอกตัว ในสังคมปัจจุบันมีกระแสหลากหลายฉุดดึงให้เราสนใจเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ผลักดันให้เราทะยานอยากและใฝ่หวังถึงบางสิ่งที่มีค่า ดิ้นรนขวนขวายเพื่อสิ่งเหล่านั้น ไขว่คว้าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า
.
แล้วหันหลังให้ขุมทรัพย์ของชีวิตที่มีค่ามากที่สุดทรัพย์หนึ่ง ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นคือสุขภาพของร่างกาย หากหัวใจเรายังรักตัวเองได้ไม่มากพอ เรามักเห็นสิ่งที่ตนเองไม่มีสำคัญกว่าสิ่งที่มีแล้ว จนวันหนึ่งเรากำลังจะสูญเสียสิ่งที่มีไป เรียกว่าเห็นโลงศพแล้วจึงหลั่งน้ำตา หากร่างกายไม่ประท้วงหัวใจด้วยความป่วยไข้เลย วันหนึ่งการเดินทางตามหาฝันคงได้สิ้นสุดโดยที่เราไม่รู้เหตุผลว่าเพราะอะไร
.
ไม่ว่าเราดิ้นรนให้ใครคนหนึ่งรักเรามากเพียงใด เรียกร้องความต้องการให้ได้รับการตอบสนองจากใครสักคนมากเท่าใด วันหนึ่งเมื่อล้มป่วยลง คนเหล่านั้นอาจมิใช่คนที่เหลียวแลดูแลเราเลย หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ปล่อยปละละเลยความต้องการของตน เที่ยวเฝ้าเรียกร้องให้ใครอื่นเป็นผู้มอบให้ แต่มิยอมตั้งใจมอบให้แก่ตนเองอย่างเต็มเปี่ยม เช่นเราหวังการใส่ใจดูแลจากใครสักคน เราได้ดูแลร่างกายของตนเองเต็มที่แล้วหรือไม่ หรือหากเราหวังรักแท้จากเขาคนนั้น เราเองได้มอบความรักอย่างไร้เงื่อนไขแก่ร่างกายของตนแล้วหรือยัง
.
ชีวิตนั้นมีคุณค่าหลากหลายด้าน หากเรายึดติดคุณค่าบางด้านมาก ชีวิตก็เหมือนเส้นพิณที่ขึงตึงเกินไป บางคนยึดมั่นคุณค่าชีวิตที่การประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก แต่วันหนึ่งล้มป่วยไม่อาจทำงานได้อย่างตั้งใจ ชีวิตก็รู้สึกล้มเหลว ไร้ค่า ทั้งที่ผลงานเก่าก็มากมี และมีความรู้ความสามารถทำการอย่างอื่นได้ เพราะด้วยหัวใจยังยึดติดคุณค่าแบบเดิมที่เคยมี ซึ่งผลจากการยึดติดในอดีตนั้นบั่นทอนสุขภาพปัจจุบันลงจนไม่อาจเป็นคนแกร่งได้เช่นเดิม
.
ความป่วยของร่างกายคอยเตือนเราเสมอ เราอย่ายึดคุณค่าที่การทำอะไรบางอย่างหรือเฝ้ารอคอยอะไรบางอย่างมากเกินไป ชีวิตที่มีความสุขแท้ คือชีวิตที่เดินบนทางความพอดี ระหว่างหลายๆ ด้านของชีวิตด้วยกัน มิใช่เพียงด้านเดียว
.
.
๒ ขังตัวเองไว้ในพื้นที่ปลอดภัยมีแต่บั่นทอนตนเองลง : หากเราเอาแต่อยู่ในบ้าน ไม่ออกมาสัมผัสธรรมชาติของแสงแดด ผู้คน สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายออกกำลังหรือเปิดรับพลังที่ดีเข้ามาสู่ตนเองเลย เราย่อมเหมือนต้นไม้ที่ถูกกระถางหรือสิ่งปกคลุมครอบทับไว้ เหี่ยวเฉา และร่างกายทรุดโทรมลง
.
การทำกิริยาร่างกายซ้ำๆ เดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานและต่อเนื่องบ่อยๆ ย่อมนำอาการปวดอักเสบมาสู่ร่างกาย การใช้ชีวิตที่ซ้ำซากจำเจในร่องเดิมๆ ที่บั่นทอนตนเอง ทางกายหรือทางหัวใจ ย่อมมีแต่ลดทอนสุขภาพดีของชีวิต
.
พื้นที่ปลอดภัยคือความคุ้นชินของหัวใจ ความคิด และการกระทำ คนเรามักมีพื้นที่ปลอดภัยไว้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของชีวิต ตามการเรียนรู้ที่ผ่านมาแต่ละช่วงวัย เราได้ค่อยๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ตนเอง ซึ่งมิใช่เพียงสถานที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงกิจวัตรประจำวัน วิธีคิด ความเชื่อ บุคลิกนิสัย แบบแผนความเคยชิน วิธีการตอบโต้ปัญหา เป็นต้น เราเรียนรู้ที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่เราเคยพบเจอตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ กลายเป็นความเคยตัวหรือความคุ้นชินของจิต
.
พื้นที่ปลอดภัยก็เหมือนกับบ้าน แหล่งฟูมฟักตัวตน พักผ่อน และหลบภัย แต่เราก็ไม่อาจมีชีวิตได้แต่ในบ้านเท่านั้น อย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องก้าวจากตัวบ้านมุ่งยังสวนในรั้วของตนเองเพื่อเก็บเกี่ยวพืชผลเป็นอาหาร เช่นเดียวกับการยึดติดในพื้นที่ปลอดภัยหรือความคุ้นเคยของจิตใจ อย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องก้าวออกมาบ้างเพื่อความอยู่รอดของชีวิต หน้าที่การงาน และการแก้ปัญหาใดใด ที่ความเคยชินได้สร้างไว้
.
เมื่อเราใช้ชีวิตแบบใดมากเกินไปจนตึง เมื่อนั้นร่างกายก็จะได้รับผลจากการใช้ชีวิตเช่นนั้น เราอาจสุดเหวี่ยงกับอารมณ์เป็นบางครั้งคราว หาโอกาสให้ตัวเองได้ปลดปล่อยสุดขั้วในบางช่วง แต่ร่างกายเราสุขไปกับใจของเราด้วยหรือไม่ หรือเพียงปรีดาข้ามคืน เพื่อปวดร้าวตลอดบ่ายในวันพรุ่ง
.
เรามักทำร้ายตัวเอง ทำร้ายร่างกาย ด้วยความเคยชินของใจและการใช้ชีวิตโดยไม่รู้ตัว เช่นการกิน การดื่ม และการเสพ ที่เกินความจำเป็นและความต้องการของร่างกาย บางทีเราเคยศึกษามาก่อน เราเชื่อว่าทานแบบนี้ จำนวนเท่านี้ถูกต้องแล้ว แต่ร่างกายตอบรับเหมือนที่ความคิดเราเชื่อหรือไม่
.
ยามเรามีความเครียด เรามีแนวโน้มที่จะลงกับร่างกายในทางใดทางหนึ่งเสมอ เช่นการดื่มคาเฟอีนเกินปริมาณที่จำเป็น ดื่ม สูบ และเสพในสิ่งที่ทำร้ายร่างกายเพียงเพื่อหวังปลดเปลื้องเรื่องกังวลไปชั่วคราว ดูโทรศัพท์มือถือหรือภาพยนตร์หลายชั่วโมงโดยไม่ถนอมสายตาเพื่อหวังลืมความเครียดและเสียงในหัวใจ
.
กล่าวได้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตโดยแลกทีละส่วนของร่างกาย จ่ายร่างกายส่วนต่างๆ ออกไปเพื่อเติมเต็มช่องว่างของหัวใจ ส่วนนี้แลกไปกับการทำงานเพื่อได้โทรศัพท์มือถือราคาแพงสักเครื่อง ส่วนนี้แลกไปกับการกินดื่มและชมความบันเทิง ส่วนนี้แลกไปกับการเป็นที่รักของใครสักคน
.
ร่างกายเราเป็นที่รองรับแก่อารมณ์อยู่เสมอ ในยามขาดสติและขาดความรักต่อตนเอง นอกจากการกิน การดื่ม การเสพ และการใช้ชีวิตที่เกินพอดีแล้ว ท่าทีต่อการดูแลร่างกายตนเองก็ด้วยเช่นกัน เราอาจออกกำลังกายบางส่วนเป็นประจำหรือใส่ใจตบแต่งให้สวยงาม เฉพาะในส่วนที่เราสนใจ แต่ละเลยร่างกายส่วนอื่นให้อ่อนแอ เช่นนี้แล้วก็สะท้อนปมในหัวใจตน เช่น การขาดรักตัวเองในบางด้าน เป็นต้น
.
ปมในหัวใจเราสะท้อนออกมาผ่านท่าทีที่กระทำต่อร่างกาย บางคนรู้ตัวว่าทำเช่นนี้แล้วร่างกายจะเสื่อมโทรมลง แต่ก็ยังโหมทำอยู่เรื่อยไป เพราะข้างในหัวใจรู้สึกไม่มีคุณค่าที่จะได้รับการสนใจ
.
การจ่อมจมในพื้นที่ปลอดภัยหรือความเคยตัวเคยใจ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้น หากไม่ใช่ร่างกายก็อาจเป็นเรื่องอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อเราป่วยไข้หรือร่างกายชำรุดผุพัง เมื่อนั้นร่างกายกำลังบอกแก่เราว่า ความเคยตัวที่ผ่านมาทำร้ายเราอย่างไร หากร่างกายนี้ยังมีลมหายใจ แม้ว่าจะครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม เราควรตระหนักว่ายังไม่สายเกินไปที่จะก้าวข้ามจากร่องเดิมๆ ของชีวิตที่ทำร้ายตัวเอง ก่อนสิ่งที่มีจะไม่เหลืออยู่เลย เพราะมัวแต่หวังเติมเต็มจากสิ่งข้างนอกที่เกินจำเป็น
.
ไม่เคยสายเกินไปที่จะเลือกทำใหม่ในสิ่งที่มีคุณค่า ตราบใดลมหายใจเรายังมีอยู่ เรารักตัวเองมากพอที่จะถนอมลมหายใจอย่างไร้เงื่อนไขได้หรือไม่ รู้รักษ์ตนและเติมความพอใจให้ตัวเองอย่างสมดุลพอดีทั้งหัวใจ และร่างกาย เริ่มต้นที่การกลับมาอยู่กับร่างกายตนเอง คือพาสติกลับมาที่ลมหายใจหรือความรู้สึกในร่างกายอยู่เสมอ แทนที่จะปล่อยล่องลอยไปกับความนึกคิดต่างๆ มากมาย ดั่งว่าวเชือกขาดต้องลมพัดพา
.
ความรักต่อตนเอง เริ่มต้นที่พาหัวใจกลับมายังร่างกายนี้ในแต่ละวันให้มากขึ้น หมั่นให้เวลากลับมาสำรวจความรู้สึกในตัวเราและถามความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง
.
หากเราเป็นคนฟังความรู้สึกและขี้เกรงใจคนอื่นมาก นี่เป็นการฝึกฝนให้ตนเองกลับมาฟังเสียงของตัวเราให้มากขึ้น รู้ทันความต้องการของตนเอง ก่อนตามใจใครมากเกินไป คนที่หัวใจรวนเรสับสนง่าย การฝึกอย่างเดียวกันนี้ก็ช่วยให้เรากลับมาค่อยๆ นึกคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อย่างมั่นคงมากขึ้น เสมือนว่าวที่เชือกถูกจับไว้ แม้ไกวไปมาก็ยังกำกับได้ มือที่ถือเชือกว่าวไว้เปรียบดังการมีสติกับร่างกายอยู่เสมอ
.
รักต้องรู้ประคอง เผลอเมื่อใดก็เหมือนมือหลุดจากเชือกว่าว ลมแรงพัดคราวนั้นด้วยแล้ว สุขภาพกายใจก็ดั่งว่าวที่ปลิวหนี แต่เรายังอาจคว้ากลับมาได้ทัน หากเราตระหนักถึงโทษและทุกข์มากเพียงพอ มิเช่นนั้นแล้วร่างกายก็จะประท้วงเราอีกครั้ง ให้สำนึกว่าเผลอไปรักสิ่งนอกตัวมากเกินไปอีกแล้ว
.
.
#คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
ตอนที่ ๒๘
.
โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่

{ อ่านตอนสอง } www.dhammaliterary.org/ป่วยกายสอนหัวใจ2/
{ ติดตามการอบรม เขียนเปลี่ยนชีวิต , ห้องเรียน วิถีครู  } www.dhammaliterary.org