๔ สิ่งที่ความป่วยกายสอนหัวใจ (ตอนสอง)
ความจริงที่เจ็บปวด คือสิ่งที่เราควรรับฟังให้มากที่สุด ยิ่งกว่าความจริงอันหอมหวาน เวลาหัวใจเราซับซ้อนเกินไปจนก่อทุกข์แก่ตนเองหรือใครๆ ร่างกายจะยังคงตรงไปตรงมา เฝ้าส่งสัญญาณเตือนใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนมิตรที่ซื่อสัตย์และซื่อตรง คอยบอกคำจริงที่ไม่หวาน แม้หัวใจไม่อยากรับฟัง รวนเรเพราะความอยากและอารมณ์นานา
.
บทความนี้ยังคงต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว เพิ่มเติมอีกสองหัวข้อ สำหรับบทเรียนหรือสิ่งสำคัญที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกายสอนแก่หัวใจเรา
.
๓ ไม่มีความเป็นตัวตนให้ยึดถือไว้ : แม้ใจเราหวังให้สิ่งต่างๆ คงอยู่ตราบนานเท่านาน หรือคิดไปเองว่าสิ่งทั้งหลายที่รักและหวงแหนจะอยู่กับเราเช่นนั้นชั่วนิรันดร์ แต่ย้อนมามองร่างกายของตัวเอง เราก็มิอาจทำให้เป็นเช่นนั้นได้เลย โรคและความป่วยไข้มักมาเยือนในเวลาที่ไม่อยากให้เกิด อวัยวะ ผิวหนัง และกล้ามเนื้อย่อมต้องหย่อนยานและเสื่อมลง แม้เราสะกดจิตตนเองมากเท่าใดก็ตาม หรือพยายามรักษาความงามและเฝ้าดูแลสิ่งที่ยึดถือไว้อย่างไร ร่างกายและแม้ตัวตนก็ต้องแปรเปลี่ยน
.
ด้วยความกลัวในหัวใจ คนเรามักพยายามยึดให้ทุกสิ่งคงอยู่ ทำทุกอย่างแม้อย่างน้อยแค่ได้รู้ว่าสิ่งที่รักและหวงแหนนั้นจะยังคงเป็นเช่นที่อยากให้เป็น แต่ร่างกายก็พยายามสอนธรรมอยู่อย่างนั้นให้เรารับฟัง ไม่มีสิ่งใดคงที่และเที่ยงแท้ แม้แต่หัวใจเราเองก็ตาม แต่คนเรามักไม่ค่อยได้ฟัง พยายามใช้ชีวิตและร่างกายอย่างเกินธรรมชาติเพื่อคว้ามาซึ่งสิ่งที่อยากได้และอยากเป็น จนกระทั่งวันหนึ่งความป่วยเท่าทวี เตือนเราหนัก สิ่งที่คว้ามาก็ต้องปล่อยลงแม้ใจไม่อยากก็ตาม
.
คนสวนไม่อาจห้ามต้นไม้มิให้ชราและตายจาก มิอาจห้ามออกผลหรือทิ้งดอกใบ แต่ทำได้ดีที่สุดที่จะบำรุงรักษาตามปัจจัย แล้วชื่นชมคุณค่าทั้งในยามงอกงามและโรยรา
.
คนสวนเรียนรู้ธรรมจากต้นไม้ที่ตัวเองปลูก คนเราที่เกิดมามีร่างกายก็เรียนรู้ธรรมจากร่างกายของตนเองได้ฉะนั้น ดั่งพุทธวจนะกล่าวว่า มีธรรมอยู่ในกายยาววา หนาคืบ และกว้างศอก
.
แสวงคอร์ส ครู หรือตำราเพื่อการเติบโตของหัวใจได้ แต่ท้ายที่สุดคำตอบที่เราค้นหาก็หวนคืนกลับมาที่ร่างกายเรานี้เอง
.
ด้วยธรรมชาติของความ อยาก-ยึด ของจิตใจ เราก็จะพยายามรักษาและสร้างความเป็นตัวตนของสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่รักหรือหวงแหน เพื่อให้ใจเรารู้สึกมั่นคง เพื่อให้รู้สึกยึดเหนี่ยวเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนของตนได้ ขณะเดียวกัน ร่างกายก็จะพยายามสะท้อนกลับหัวใจให้เข้าใจซึ้งถึงสิ่งตรงข้าม ถึงความไม่ใช่ตัวตน ความไม่เที่ยงแท้ และความเสื่อมไป อันรวมอยู่ในธรรมที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” แม้เราไม่อยากสบตาความจริงเหล่านี้ก็ตาม
.
ต่อให้เราพยายามก่อตัวตนของตนอย่างไร ฐานะ ชื่อเสียง ความสำเร็จ ความรัก ความพอใจ และแม้แต่คุณค่าของชีวิตก็มิอาจคงอยู่แน่นอน ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาหาความเสื่อมของร่างกาย พากลับมายอมรับความจริงว่าแม้พลังใจสำคัญอย่างไร ทุกสิ่งก็มิอาจเป็นดั่งใจได้ตลอด แม้รักษาสิ่งที่รักและหวงแหนให้เป็นตัวตนเช่นใจหวังได้มากเพียงใด ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยให้เราหลีกหนีความจริงของโลก ซึ่งทุกสิ่งต้องมีวันเสื่อมลงและเปลี่ยนแปลง
.
.
๔ จงกล้าหาญที่จะยอมรับความจริง : ด้วยกลไกปกป้องตัวเองของจิต เราเรียนรู้ที่จะสร้างกำแพงต่างๆ เพื่อปกป้องตนจากความกลัวและความเจ็บปวด เป็นท่าทีสู้บ้าง หนีบ้าง เพื่อปกป้องตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อม กำแพงเหล่านี้บางครั้งเหมือนบ้านที่พาหัวใจอุ่น บางครั้งเป็นมือที่ปิดตาตัวเองจากการยอมรับความจริง บางทีเราพยายามปกป้องตัวเองจากความกลัวว่าจะทุกข์ แต่กลับซ้ำแผลให้ยิ่งทุกข์ หรือท่าทีปกป้องตัวเรานี้เองที่ก่อปัญหาก่อนปัญหาจริงจะเกิด
.
ด้วยความกลัวที่แอบผลักดันในจิต เรามักใช้ชีวิตและโต้ตอบกับปัญหาทั้งหลาย ด้วยการหนีการยอมรับความจริง หนึ่งในสิ่งที่จิตมักพยายามจะปกป้องตัวเราจากการยอมรับ คือความจริงที่เจ็บปวด อันได้แก่ความจริงของโลกที่ทุกสิ่งต้องมีการเสื่อมลง มีการพลัดพราก มีความไม่แน่นอน มิอาจเอาใจตนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ตัวตนให้ยึดถือ และมีความตายเป็นปลายทาง เราพยายามจะหลบๆ และ ลืมๆ ไม่เหลียวแลความจริงเหล่านี้อย่างเต็มใจ
.
เราจึงพยายามฉวยคว้าและปรุงแต่งสิ่งต่างๆ เพื่อกลบเกลื่อนการยอมรับความจริงของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เหมือนเวลาร่างกายป่วยไข้ เราก็พยายามจะกลบเกลื่อนอาการเหล่านั้นไว้เพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่นทานยากดอาการหรือลดความปวดไว้ ทำงานหรือทำเรื่องอื่นเพื่อพาใจไม่สนใจอาการที่เกิด แต่ไม่ได้ใส่ใจแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ป่วยนั้น ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิต อารมณ์ สภาพแวดล้อม และอื่นๆ ที่เราควรปรับปรุงแก้ไข จนท้ายที่สุดเราก็กลับมาเจ็บป่วยซ้ำซากหรือหนักขึ้นในคราวต่อไป
.
เพราะหลีกเลี่ยงความจริงของปัญหา เราจึงไม่ได้แก้ไขปัญหานั้นอย่างถ่องแท้ เพียงหลบเลี่ยงผลไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ก็เหมือนดั่งเป็นแผลแล้วเอาแต่มือปิดไว้ ไม่เปิดออกเพื่อใส่ยา และตรวจเช็คอาการ เพราะกลัวเจ็บหรือกลัวที่จะมองแผลนั้น เวลาป่วยหรือเกิดปัญหาก็มิกล้าเข้าใจและแก้ไขสาเหตุแท้จริง ท้ายที่สุดผลร้ายก็จะลุกลาม
.
ขณะที่หัวใจดื้อดึงและพยายามหลอกตัวเองจากความจริง ร่างกายไม่เคยโกหก ความป่วยของร่างกายและสิ่งอื่นๆ ที่เราไม่อยากพบเจอ จะฉุดชวนเราเหลียวกลับมาพิจารณาการใช้ชีวิตที่ผิดพลาด และความจริงที่พยายามหลีกหนี ความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย จึงเป็นเหมือนข้อความเตือนใจจากธรรมชาติ เราจะพยายามหนีทุกข์หรือสู้ทุกข์เพียงใดก็ตาม เราก็ไม่อาจหลีกหนีที่จะต้องยอมรับความจริงของชีวิตในท้ายที่สุด
.
หากเรายิ่งดื้อดึงมิฟัง การเตือนนั้นก็จะแรงขึ้น เหมือนอาการร่างกายที่ซ้ำซากแล้วหนักขึ้น อุบัติเหตุและปัญหาเดิมๆ ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ก่อนจะหนักขึ้นเรื่อยๆ
.
การพ้นทุกข์แท้จริงแล้วเรียบง่ายเหมือนคลายเชือกที่เผลอพันกัน แต่ด้วยการพยายามหนีความจริงแล้ว เวลาเกิดปัญหา เรามักเผลอทำให้เชือกยุ่งเหยิงเกินกว่าที่เป็นหลายเท่าตัว เพราะความกลัวไปเอง การคิดตัดสินเกินจริง การโทษตัวเองหรือคนอื่นมากเกินไป และการตอบสนองปัญหาด้วยความเคยชินเป็นหลัก ซึ่งเกิดจากการพยายามหนีความเป็นจริงทั้งสิ้น จึงไม่ได้พิจารณาสิ่งต่างๆ ไปตามที่เป็น แต่คิดและรู้สึกไปตามที่อยากให้เป็น และอยากได้มี เหมือนพยายามแกะเชือกอย่างวู่วามและหลับตา ปมจึงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้
.
ความป่วยในร่างกาย สอนใจให้สำนึกถึงความอ่อนน้อมต่อโลกหรือต่อธรรมชาติ ต่อให้แม้เราเก่ง ดี หรือมีฐานะอย่างไร มีภูมิปัญหาหรือจิตวิญญาณเป็นเลิศ เข้าคอร์สราคาแพงมากมายเท่าใด เราก็ไม่อาจรอดพ้นความจำเป็นพื้นฐาน คือ อาหาร น้ำ อากาศ และยารักษาโรค กับความจริงพื้นฐานทั้ง ๓ ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
.
ต่อให้เราอวดเบ่งอัตตาเราเพียงใด สิ่งนั้นก็ไม่ช่วยเราในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งโอหังต่อร่างกายในเวลาโรคภัยมาเยือน เราอาจยิ่งฝืนตัวจนป่วยหนักยิ่งกว่าเดิม ตึงเกินไปย่อมขาดและโทรมง่าย คุณหมอหรือใครอื่นอาจเตือนแล้วว่าควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอะไร แต่ใจดื้อรั้นจนปัญหาซ้ำร้าย นั่นเพราะเราขาดความอ่อนน้อมต่อชีวิต พยายามรักษาตัวตนของตนไว้ ซึ่งมิอาจช่วยให้เรารู้สึกสุขสงบในช่วงเวลาอันวิกฤติได้เลย
.
พระพุทธเจ้าและบรมศาสดา ต่างสอนให้เรากล้าหาญเพื่อยอมรับความจริง เผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างไม่สู้และไม่หนี ทุกคนไม่อาจหนีความป่วยไข้และความตายพ้น ความเสื่อมลงเป็นของธรรมดา วันหนึ่งสัญญาณของความผิดหวังและความตายย่อมมาเยือนมิอาจหลีกพ้น
.
ผู้ใดเล่าจะทุกข์กว่ากัน ระหว่างคนที่พยายามทำทุกวิถีทางอย่างร้อนใจเพื่อหนีความจริง กับผู้ที่ยืดอกยอมรับความเป็นจริงด้วยใจสงบ เรามีหน้าที่บำรุงรักษาร่างกายและปัจจัยสำคัญในชีวิต แต่ไม่มีหน้าที่ฝืนธรรมชาติ หากเราหวังให้ชีวิตมีความสุข แต่กลับสู้กับปัญหาอย่างเป็นทุกข์เสียแล้ว เราเองที่กำลังพลัดพรากชีวิตจากเป้าหมายแท้จริง
.
ขณะที่บางทีปัญหาหรือความป่วยนั้นอาจกำลังย้อนถามเราว่าอะไรคือเป้าหมายแท้จริงของชีวิตอยู่ก็เป็นได้ ใช่การทำงานอย่างบ้าคลั่งหรือไม่ แค่มีใครสักคนรักเราหรือเปล่า หรือกินดื่มเสพจนทำร้ายตนเอง หรือเที่ยวสนใจใครๆ แต่ตนเองมิอาจพบความสงบแห่งใจ ความป่วยของร่างกายอาจเป็นเพื่อนที่เราไม่ปรารถนา แต่มาเตือนเราด้วยความหวังดี พูดความจริงที่ไม่อยากฟัง
.
เราไม่อาจหนีพ้นจากความจริงของชีวิต แม้จะพยายามปรุงแต่งกลบเกลื่อนเพียงใดก็ตาม เราเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถล้มเหลวได้ ป่วยได้ ผิดหวังได้ และตายได้เหมือนกัน นี่เป็นความจริงอันแสนธรรมดา ที่มักถูกหมกอยู่ภายใต้สิ่งพิเศษทั้งหลายที่เราดิ้นรนไขว่คว้า
.
เรามีหน้าที่ของชีวิตที่จะเติบโตดั่งต้นไม้ แม้ความตายรออยู่เบื้องหน้าก็ตาม แต่ต้นไม้ก็ไม่เคยกลัวที่จะร่วงโรยและอับเฉาในวันหนึ่ง เพราะกล้าหาญที่จะยอมรับความจริง จึงกล้าโตและทำสิ่งที่ควร มิมัวเสียเวลาไปกับการยุ่งวุ่นวายเพื่อปรุงแต่งชีวิตต่างๆ เพื่อกลบเกลื่อนความจริงอันแสนธรรมดา
.
เมื่อเรายอมรับความจริงอย่างที่เป็น เมื่อนั้นเวลาป่วยไข้ ล้มเหลว และแม้แต่ผิดหวัง ก็จะมิทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าน้อยลง คุณค่าเกิดขึ้นเพราะการยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ ด้วยใจนอบน้อมและไม่พะวงยึดตัวตน ทำให้ดีที่สุดในโอกาสที่มี มิใช่อยากให้มี
.
ความสุขและความแข็งแรง ย่อมสอนให้เรารู้จักภูมิใจในคุณค่าของตน ความทุกข์และความป่วยไข้ ก็สอนหัวใจให้รู้จักพอในสิ่งที่ตนเองมีและเป็นจริง
.
.
#คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
ตอนที่ ๒๙
.
โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่
{ อ่านตอนแรก } www.dhammaliterary.org/ป่วยกายสอนหัวใจ1/
{ ติดตามการอบรม เขียนเปลี่ยนชีวิต , ห้องเรียน วิถีครู } www.dhammaliterary.org