รับมือความเครียดไม่ยาก หากรู้ ๕ ข้อนี้

 

 

๑ เข้าใจความเครียด :
.
ความเครียดนั้นเป็นกลไกการ “ตื่นตัว” โดยธรรมชาติ เป็นสัญชาตญาณเพื่อปลุกกายจิตให้ตั้งท่า หรือเรียกว่าตั้งการ์ดให้พร้อมสำหรับการเอาตัวรอดเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป ความเครียดยังเรียกได้อีกแบบว่าความ “ตึง” เป็นอาการที่กายหรือจิตมีความพยายามในการจะทำสิ่งใด เหมือนการจะขยับเขยื้อนร่างกายก็ย่อมจะมีความตึงเกิดขึ้นสลับกับความหย่อน ทั้งหมดนี้เป็นธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่าความเครียดเป็นภาวะธรรมดา ไม่ใช่ศัตรูหรือสิ่งที่เราต้องกลัว แต่สิ่งที่ทำร้ายเราจริงๆ แล้ว คือการตื่นตัวและการตึงจนเกินความพอดีและความจำเป็น
.
หากเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตดังเสียงเพลงของพิณหรือกีตาร์แล้ว การใช้ชีวิตก็คือการขึงสายของพิณหรือกีตาร์นั้น หากขึงหย่อนเกินไป หรือขึงตึงเกินไป เสียงเพลงของพิณหรือกีตาร์นั้นก็ไม่ไพเราะ การใช้ชีวิตหากตึงหรือหย่อนเกินไป คุณภาพชีวิตก็ไม่พอดี
.
ความเครียดที่พอดีก็คือการขึงสายที่เหมาะสม ย่อมมีความตึง มีความตื่นตัว อยู่เป็นธรรมดาและตามความจำเป็น ความเครียดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ชีวิตจะเลวร้ายเมื่อระดับความเครียดอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม หรือกล่าวให้ถูกต้องคือเมื่อกายจิตตื่นตัวและมีความตึงที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
.
เมื่อกายจิตรับรู้ปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่างก็จะปลุกเราให้ตื่นตัวด้วยความเครียดให้รู้สึก ด้วยอาการทางกายก็ดี หรืออาการทางใจก็ดี เพื่อเร่งเร้าให้เราจัดการกับสิ่งตรงหน้า ร่างกายและท่าทีของเราก็จะมีความตึงมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อสู้หรือหนีสิ่งที่เข้ามา จนเมื่อปัญหาเหล่านั้นผ่านพ้นไปแล้ว ตามธรรมชาติกลไกการตื่นตัวย่อมต้องทำงานน้อยลง กายและจิตก็จะผ่อนคลายลง ลดการตั้งการ์ด หรือ “การปกป้องตนเอง” ลงไปในระดับปกติ
.
ข้างต้นนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อปัญหาผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลไกการตื่นตัวยังทำงานอยู่ไม่เลิกรา กายใจยังไม่ยอมผ่อนคลาย ยังตั้งการ์ดอยู่อย่างนั้น ความเครียดก็จะเริ่มสะสมจนนำไปสู่ปัญหาทางกายและจิตตามมา
.
บางกรณีก็ตื่นตัวและตึงมากเกินระดับของปัญหาที่เกิด จนเมื่อเรื่องราวผ่านไปแล้ว ระดับความตื่นตัวและตึงก็ลดลง แต่ลดลงไปไม่หมดยังเหลือตกค้างจากระดับความเครียดในการรับมือกับปัญหาที่มากเกินความจำเป็น จนเมื่อต้องใช้ความเครียดรับมือกับเรื่องใหม่ ระดับความเครียดก็จะถูกเพิ่มเติมจากเดิมที่ตกค้าง แล้วครั้งต่อไประดับความเครียดตั้งต้นก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินที่จะเครียดหนักกับเรื่องเล็กๆ น้อย และทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์จริงที่เกิด นี่เป็นกลไกการสู้กับความทุกข์หรือปัญหาที่มากเกินไป มีแนวโน้มที่จะมาสู่โรคซึมเศร้าและแพนิคตามมา
.
ในทางกลับกันหากเป็นการหนีปัญหา ระดับความเครียดอาจจะน้อยเกินไปสะสมเป็นความเครียดติดลบ คือมีอาการโทษคนอื่น โทษสิ่งนอกตัว หลงตัวเอง ขาดความตื่นตัวที่จะแก้ไขปัญหา และขาดความรับผิดชอบ เป็นระดับความเครียดที่ไม่พอดีอีกเช่นกัน อาจเหวี่ยงกลับไปกลับมาระหว่างมากเกินไปกับน้อยเกินไป นำมาสู่ปัญหาอื่นตามมา มีแนวโน้มจะนำมาสู่อาการประเภทบุคลิกภาพสับสนและการเสพติด
.
ความเครียดแบบติดลบ ไม่ใช่ว่าไม่เครียดเลย แต่จริงๆ แล้วแอบแฝงอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก แต่ไม่สำนึกรู้ตัวเพราะพยายามหนี ซึ่งในช่วงที่ความเครียดสะสมเริ่มก่อตัวมิว่าแบบใด มักไม่ค่อยรู้ตัวกันเพราะผลเสียต่างๆ ยังไม่แสดงออกชัดเจน บ้างก็อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก นอกจากจะสังเกตเห็นอาการเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกาย และในชีวิตด้านต่างๆ ซึ่งค่อยๆ เผยปัญหาออกมาให้เห็นจากน้อยไปสู่มาก มิว่าจะเป็นความเจ็บป่วยต่างๆ ของร่างกาย การนอนไม่หลับ ปัญหาในความสัมพันธ์ ความสามารถในการทำงาน ศักยภาพในการคิดและการตัดสินใจ ฯ เมื่อสายพิณหรือสายกีตาร์ตึงขาดการขึงที่พอดีแล้ว เสียงย่อมค่อยๆ แปร่งไปจากเดิม หากไม่เงี่ยหูฟังให้ดีย่อมไม่รู้ หากไม่หมั่นทบทวนตนเองย่อมไม่เห็น
.
การดูแลความตึงและความตื่นตัวของกายจิตให้อยู่ในระดับที่พอดีและสอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเป็นหัวใจสำคัญของยุทธวิธีในการจัดการกับความเครียดในชีวิต ก่อนที่จะสายเกินไป เราพึงสังเกตว่าสาเหตุใดทำให้กายจิตมีความตึงและความตื่นตัวเกิดขึ้น ปัจจัยใดทำให้มันไม่พอดี การรู้ตัวจะช่วยให้เราสามารถควบคุมระดับความเครียดให้เหมาะสมได้
.
.
๒ ความพยายาม (และไม่พยายาม) ทำร้ายเราได้เสมอ :
.
ความตึงและความตื่นตัวที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป มักเกิดจากความ “กลัว” ที่ทับซ้อนซ่อนลึกเบื้องหลังความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ความกลัวเป็นอารมณ์ที่ละเอียด เป็นกิเลสที่ซ่อนอย่างแนบเนียน เราต่างก็มีความกลัวที่เป็นแรงขับดันในการใช้ชีวิตอยู่มากมาย ตั้งแต่ความกลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวโดดเดี่ยว กลัวไม่ดีพอ กลัวความผิดหวัง กลัวถูกลืมเลือน กลัวการสูญเสีย เป็นต้น จิตใจเราต่างก็ถูกความกลัวผูกให้มีปมบางอย่างอยู่ทั้งสิ้น กระตุ้นเร้าให้เราเกิดความเครียดที่เกินความจำเป็นและทำร้ายตัวเองด้วยความพยายามที่ไม่พอดี
.
ความกลัวนั้นเองทำให้ความตื่นตัวเป็นความ “ตื่นกลัว” ทำให้คิดมากหวาดระแวง วิตกกังวลไปต่างๆ จนเกินความเป็นจริง ความเครียดเกินครึ่งหนึ่งในชีวิตเกิดจากความคิดของเราเอง ความคิดที่ถูกผลักดันด้วยความกลัวอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้สิ่งที่เราเจอหรือระลึกถึง แลดูเลวร้ายไปกว่าความเป็นจริงเสมอ นอกจากการวิตกกังวล ความตื่นกลัวยังผลักดันให้เราพยายามมากเกินไปในเรื่องต่างๆ ทำให้เราแบกรับความคาดหวัง หมกมุ่นความดีพอหรือความสมบูรณ์แบบ กดดันตนเอง ไม่ยอมรับความจริง หักโหมจนโทรมทรุด ฯ หรือในทางกลับกันก็ทำให้เราไม่พยายามเลย เพราะกลัวที่จะผิดหวัง หรือกลัวที่จะต้องเสียใจ ทำให้ละเลยหรือปิดโอกาสตนเอง
.
ความกลัวยังทำให้เรายึดติดกับบางสิ่งมากเกินไป การยึดติดนั้นเองที่ทำให้เกิดความตึงในการใช้ชีวิตที่เกินพอดี กลายเป็นความ “ตึงเครียด” หากเรามีความกลัวไม่ดีพออยู่ภายในระหว่างการทำงาน เราอาจยึดติดผลลัพธ์ของงานมากเกินไป จนนำมาสู่ความบาดหมางระหว่างเพื่อนร่วมงาน และตนอาจหักโหมบ้างานมากเกินไปจนกายใจเหนื่อยล้า ความยึดติดนั้นเองที่ก่อน้ำหนักให้เราแบกรับ กลายเป็นความเครียดสะสมในร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความสัมพันธ์อีกด้วย จนถึงวันที่เกินขีดจำกัดจะรับไหว
.
คนแต่ละคนมีความต้านทานต่อความตึงเครียดไม่เท่ากัน บางคนทนทานรับได้ยาวนาน บางคนทนรับได้น้อย หากเรามิได้คอยดูแลหรือสังเกตกายจิตให้ดี กว่าจะรู้ตัวว่ามีความเครียดสะสมมากก็อาจถึงเกณฑ์ที่เราเริ่มทนไม่ไหวแล้วหรือเลยเกณฑ์นั้นไปแล้ว ซึ่งจะเป็นจุดที่อาการต่างๆ จะแสดงออกมาอย่างชัดเจน ทั้งความป่วยไข้ทางกายที่อาจเกิดที่กล้ามเนื้อหรือโรคต่ออวัยวะภายใน หรือความป่วยไข้ทางจิตใจในรูปแบบของอาการทางจิตต่างๆ
.
ความเครียดนั้นไม่ได้สะสมจากการเป็นฝ่ายรับเข้ามาอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจัยภายนอกจะไม่สร้างผลความเครียดให้เกิดขึ้น หากตัวเราเองไม่เป็นเหตุปัจจัยทำให้สิ่งที่มากระทบกลายเป็นความเครียด กล่าวคือ แม้สิ่งภายนอกจะเหมือนว่ากดดันเรา หรือมารบกวนกายใจ แต่หากจิตใจหรือท่าทีในการรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว ความเครียดก็จะเกิดแต่พอดีหรือไม่เกิดขึ้น
.
หากเราคิดมากเกินไปกับเหตุการณ์หรือคำพูดที่เข้ามา เท่ากับจิตเราเองที่สร้างความเครียดให้เกิดขึ้น จากความพยายามที่มากเกินไปจนไปแบกรับสิ่งเหล่านั้น ความพยายามในที่นี้ก็คืออาจเป็นการพยายามให้ดีพอ พยายามแก้ไขปัญหา หรือพยายามรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่เราเพียงแค่รับรู้และรับฟังด้วยใจที่เป็นกลางก็เพียงพอแล้ว หรือทำแต่สิ่งที่พอทำได้สถานการณ์ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง การพยายามมากเกินไปอาจทำให้สถานการณ์นั้นเลวร้ายลง
.
ความทุกข์และปัญหาเหล่านั้นไม่ได้บังคับให้เราจะต้องเครียด คนที่กดดันและบีบบังคับตัวเราให้เครียดขึงมีแก่ตัวเราเองเท่านั้น คนที่เกร็งร่างกายจนปวดตึงและล้าก็คือจิตใจเราเอง การยึดมั่นจนเป็นทุกข์ก็ด้วยการยึดถือที่เราหมายมั่นไว้เอง
.
หลายๆ ครั้งความพยายามที่มากเกินไปก็เหมือนกับการแบกโลกไว้ทั้งใบ เรารู้สึกไปเองว่าต้องรับผิดชอบทุกสิ่งลำพัง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฉัน หรือไม่มีใครสามารถเข้าใจและช่วยเหลือได้ เราพยายามเกินไปที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาดี พยายามเกินไปที่จะทำหน้าที่ให้ดีพอ ความกลัวทำให้เราตึงเกินไปต่อตนเอง คาดหวังและคาดคั้น ตื่นตัวจนตื่นกลัว กายจิตก็ต้องทนกับแรงตึงของความเครียดที่เราสร้างขึ้นมาเองด้วยความคิด และการกระทำ
.
หากเรามีมุมมองที่เหมาะสม แม้เจอกับสถานการณ์ที่ท้าทาย ความเครียดก็สามารถเกิดแต่พอดีหรือไม่เกิดขึ้นมา เช่นการมองให้เห็นหลากหลายด้านของเหตุการณ์อย่างเดียวกัน หรือลองถอยออกมาเป็นผู้เฝ้าดู ไม่เอาตัวเองจมไปกับอารมณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเราจะลองระลึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่ตนเคารพมามองดูเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นนี้ก็ได้
.
การมองอย่างถูกต้องก็จะทำให้เรารู้ตัวว่าควรพยายามมากน้อยเท่าใดหรือควรรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิด หากเรามองแง่ร้ายเกินไปก็จะพยายามมากเกินไปในทางใดทางหนึ่ง หรือมองโลกแง่ดีเกินไปก็อาจจะพยายามน้อยกว่าควร มองให้เป็นกลางและรอบด้านมักช่วยป้องกันความเครียดได้ดีกว่า แต่หลายครั้งก็ต้องมองให้เห็นโอกาสและด้านดีๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราไม่คิดลบจนเกินไป
.
การคิดน้อยเกินไป หรือไม่พยายามเพียงพอก็จะเป็นเหตุทำให้เกิดความเครียดในภายหลังได้เช่นกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อสุดโต่งไปทางใดมากเกินไปก็มักจะเหวี่ยงกลับมาในด้านตรงข้าม ความเครียดที่ติดลบเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะเหวี่ยงมาเป็นความเครียดมหาศาล เหตุจากการปล่อยปละละเลยหรือพยายามหนีความจริง ซึ่งก็มาจากความกลัวที่จะยอมรับ ทำให้พยายามหนีปัญหามากเกินไป ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการไม่พยายามและการคิดน้อยเกินไปก็เป็นความพยายามที่มากเกินไปด้วยเช่นกัน
.
.
๓ ระวังการเหวี่ยงให้ดี :
.
เมื่อชีวิตเสียสมดุล สุดโต่งไปทางหนึ่งเกินไปแล้วก็ย่อมมีโอกาสที่จะเหวี่ยงมาสุดโต่งอีกทางฝั่งหนึ่ง เหมือนลูกตุ้มที่เหวี่ยงจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง ช่วงหนึ่งเราอาจบีบคั้นตนเองมากจนเหนื่อยล้า เอาจริงจังกับชีวิตมากเกินไป ถึงจุดหนึ่งจิตก็จะชวนเราเหวี่ยงไปอีกทางด้วยการขี้เกียจ ไม่อยากเอาจริงจังกับอะไร ปล่อยปละความรับผิดชอบ หมดพลังและแรงใจ หรือในทางกลับกันจากที่ไม่พยายามเลยก็กลายมากดดันตนเอง เพื่อให้ทันเส้นตายบ้างก็มี
.
แง่หนึ่งการเหวี่ยงนั้นก็เป็นกลไกตามธรรมชาติเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผ่อนคลายจากการตึงเกินไป เป็นความพยายามรักษาสมดุลด้วยสัญชาตญาณ แต่อีกแง่หนึ่งกลไกแบบนี้ไม่ได้เป็นไปด้วยสติปัญญา จึงมักเกิดผลเสียตามมา ขอให้ระลึกถึงการยืดหนังยางให้ยาวมากที่สุดแล้วปล่อยออก มันย่อมดีดกลับมาโดนนิ้วตนเองให้เจ็บปวด ยิ่งทำซ้ำหนังยางยิ่งเสื่อมสภาพเร็ว จนเมื่อยืดดึงมากเข้าก็ขาดออก เป็นเหมือนสภาพร่างกายและจิตใจที่ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วง แม้จะได้รับการพักผ่อนเป็นช่วงๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทดแทนความเสื่อมสภาพที่ถูกใช้งานอย่างหักโหมต่อเนื่องจากความพยายามอันไม่พอดี
.
คล้ายกับการอดหลับอดนอนในยามกลางคืนทำงานหามรุ่งหามค่ำหรือทำกิจกรรมใดก็ตาม เพื่อหวังจะนอนทดแทนในยามกลางวัน ร่างกายก็เสื่อมสภาพไปแล้ว การนอนพักผ่อนในเวลากลางวันไม่ได้ชดเชยสิ่งที่เสียไปแล้วจากการขาดการพักผ่อนอย่างเต็มที่ หากเราคิดที่จะใช้ชีวิตสุดโต่งไปในทางใดเพื่อเหวี่ยงมาอีกด้านหนึ่งเมื่อถึงเวลา ก็ต้องจ่ายด้วยการเสื่อมสภาพของกายจิตจากการถูกความเครียดกัดกร่อนทีละน้อย หากเฝ้าหวังว่าวันหน้าจะได้ผ่อนคลายและสุขสบายจากความเครียดในวันนี้ วันข้างหน้านั้นอาจได้พักผ่อนในโรงพยาบาลและรับผลจากความเครียดที่แล้วมา
.
ความทุกข์และความตึงที่เผชิญในชีวิตอาจพาให้เราสุดเหวี่ยงอีกแบบหนึ่ง ด้วยการใฝ่หายา ทางออก หรือความช่วยเหลือที่ดูดีเป็นพิเศษหรือสุดโต่งเกินไป อาจหลงเคลิ้มไปกับโฆษณาและความเชื่อที่ดูทดแทนความอิ่มเอมในชีวิตได้อย่างง่ายดาย หรือทุ่มเทไปกับการพยายามปลดทุกข์และผ่อนคลายชีวิตจนนำมาสู่ความเครียดในภายหลัง
.
เราจะเห็นตัวอย่างได้จากคนที่สูญเงินไปเป็นจำนวนมากกับยารักษาโรค คอร์สการอบรม การรับการบำบัดด้วยวิธีการต่างๆ และการเสพติดสิ่งอื่นๆ โดยที่ได้ประโยชน์แท้จริงต่อกายจิตเพียงน้อยนิด ยิ่งพยายามสู้หรือพยายามหนีกับปัญหาที่เผชิญ ยิ่งมีแต่จะสร้างความเครียดให้เกิดขึ้นทับถมมากเท่านั้น บางคนจมไปกับความมืดมนด้วยการคิดตอกย้ำและจนตรอก บ้างก็ทะยานไขว่คว้าแสงสว่างจนตกเหว
.
อย่ามุ่งใฝ่หาความพิเศษ หรือแม้แต่คำแนะนำอันสวยหรูเกินจริงเพื่อที่จะพ้นจากความทุกข์ที่เจอ อย่าพาตนเองให้เหนื่อยและอ่อนล้ามากยิ่งขึ้น เพียงเพื่อจะก้าวข้ามความตึงและความตื่นตัวอันเรียกว่าความเครียดที่เผชิญ
.
คนเราเครียดก็เพราะการไม่อาจยอมรับความจริง และความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายบนโลก ยิ่งตามหาความพิเศษและสิ่งที่ดูล้ำค่า อาจยิ่งทำให้เราหนีไปจากความจริงและนำมาสู่ความทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด ลองหยุดลงและอยู่กับความเป็นจริงอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้อยู่ในหัวเรา และไม่ได้อยู่ในใจเรา แต่อยู่ตรงหน้านั้น
.
คำตอบในการพ้นจากความเครียดต่างๆ มักจะเรียบง่ายกว่าที่เราคิด และตนเองก็มักจะรู้อยู่แก่ใจ ผู้ที่กำมือจนเมื่อยเกร็งได้ก็ย่อมสามารถที่จะแบมือให้ผ่อนคลายได้ฉะนั้น เราคือคนที่เลือกว่าจะผ่อนคลายหรือเลือกที่ตึงเครียดด้วยตนเอง มิใช่สิ่งพิเศษนอกตัวเลย
.
.
๔ ใช้หนึ่ง ส. สี่ ย. (สังเกตด้วยสติ หยุดยั้ง เยือกเย็น ยอมรับ ยินดี)
.
สังเกตด้วยสติ :
.
การรับมือกับความเครียด ต้องเริ่มจากการฝึกสังเกตความเครียดก่อน เมื่อใดก็ตามที่ความเครียดเกิด หากขาดการสังเกตอย่างมีสติแล้ว ความเครียดนั้นก็จะส่งผลให้เกิดความเครียดต่อๆ ไปเป็นโดมิโน จากเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องหนึ่ง จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ขยายใหญ่มากขึ้น หากสังเกตและรู้ทันก็มีโอกาสระงับหยุดยั้งการแพร่ระบาดนี้ได้
.
บ่อยครั้งที่ความเครียดเกิดขึ้นที่ความคิดก่อนแล้วลงมาที่ร่างกาย แต่ด้วยความที่การคิดเป็นนามธรรม รู้สึกรู้ตัวให้ทันท่วงทีได้ยาก ดังนั้นต้องฝึกที่การสังเกตร่างกายก่อน เมื่อความเครียดเริ่มก่อเกิดขึ้นที่ความคิด ร่างกายบางส่วนก็จะมีความตึงเกิดขึ้น การหายใจและการเต้นของหัวใจรวมทั้งการไหลเวียนของอากาศและของเหลวในร่างกายก็จะมีความตื่นตัวมากขึ้น
.
ความตึงและความตื่นตัวของกายก็จะเป็นสัญญาณอย่างดีของความเครียด หากเรารู้ไม่ทันอาการเหล่านี้ก็จะเกิดอาการต่อมาเป็นความเมื่อยล้า ความปวดเกร็ง และอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา อาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนก่อนแล้วจึงขยายไปมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าความเครียดได้ขยายใหญ่กว่าเดิมแล้ว
.
เมื่อจิตเผชิญกับความกลัว ความตึงและความตื่นตัวในร่างกายก็จะมีมากขึ้น รวมทั้งในการกระทำหรือท่าทีต่างๆ ในชีวิตด้วย เมื่อใดเรากำลังบีบคั้นตนเองเกินไป ให้หมั่นสังเกตว่าตอนนี้เรากำลังตื่นเต้นหรือตื่นกลัว เรามีท่าทางหรือท่าทีที่ตึงเกินไปหรือไม่ ในร่างกายส่วนใด ในการกระทำอย่างไร
.
เมื่อสัญญาณต่างๆ บ่งบอก เราต้องกลับมาสำรวจความคิดและท่าทีต่างๆ ของตนเอง เรารู้สึกอย่างไร เราคิดอย่างไร และพยายามทำอะไร จึงทำให้เกิดความเครียดขึ้นต่อร่างกาย ฝึกสังเกตว่าเมื่อคิดอย่างไร ทำแบบไหน จึงทำให้ความเครียดเกิดขึ้นหรือเกิดมากขึ้น และเรากำลังกลัวอะไรในตอนนั้น
.
มิว่ารู้ตัวตอนไหน ตอนนั้นคือช่วงเวลาที่สำคัญ เราจึงจะตระหนักว่าตอนนี้เครียดแล้วมากเกินไปหรือไม่ ต้องรับมืออย่างไร เมื่อฝึกสังเกตมากขึ้นเราจะรู้ทันเมื่อความตึงเล็กๆ เริ่มเกิดขึ้นในร่างกาย ตอนที่ความเครียดเริ่มก่อตัว ก็จะหยุดยั้งง่ายกว่าเมื่อมันใหญ่โตแล้ว หรือใช้ความเครียดแต่พอดีมิให้ลุกลามได้
.
.
หยุดยั้ง :
.
เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ตัวว่ากำลังตื่นตัว ตื่นกลัว ตึงเกร็ง หรือพยายามมากจนเป็นทุกข์ ให้รับรู้ถึงความกลัวที่กำลังผลักดันอยู่ภายใน ยอมรับและเมตตาในความกลัวนั้น แล้วค่อยๆ พิจารณาสถานการณ์และสิ่งที่กลัวด้วยสติและปัญญา
.
หากเมื่อใดก็ตามที่เรารู้ว่าการใช้ชีวิตและความคิดตึงเกินไปจากการยึดมั่นถือมั่น ให้รับรู้ถึงความต้องการแท้จริงและความกลัวด้วยเช่นกัน แล้วพิจารณาด้วยสติให้ดีว่าจำเป็นจะต้องตึงขนาดนี้จริงๆ หรือ และการยึดติดนี้จะช่วยให้ความเครียดและความทุกข์หายไปจริงๆ หรือไม่
.
เวลาใดที่รู้สึกว่าแบกรับสิ่งต่างๆ ไว้มากจนกดดันและบีบคั้นตนเองกับคนอื่น ลองหยุดลงและสังเกตว่าเราพยายามทำอะไรอยู่ เรากำลังพยายามเพื่อให้ได้รับอะไร และจำเป็นจะต้องพยายามถึงเพียงนี้หรือไม่
.
หยุดยั้งการคิดและการกระทำใดๆ ที่เราสังเกตว่ามันเพิ่มระดับความเครียดจนเกินความจำเป็นพอดี มิว่าต่อร่างกายหรือต่อจิตใจ ชะลอหรือลดละการกระทำและการคิดนั้นๆ ที่ทำให้เกิดความตึงและความตื่นตัวที่มากเกินไป รวมทั้งท่าทางของร่างกายในการใช้ชีวิต เมื่อมีความเครียดสะสมท่าทางของร่างกายย่อมอยู่ในความไม่สมดุล อาจหดเกร็งบางจุดเกินไป การปรับกิริยาท่าทางของร่างกายก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความผ่อนคลายจากความเครียด
.
วิถีชีวิตที่กัดกร่อนสภาพกายจิตก็เป็นสิ่งที่ต้องหยุดยั้ง หรืออย่างน้อยคือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้สมดุลมากขึ้น การหมกมุ่นในบางความคิดหรือการใส่ใจที่เกินพอดีในบางเรื่องมากเกินไป เราก็ต้องหยุดลง รู้หักห้ามใจตนเอง ฝึกฝืนความเคยชินต่างๆ ที่เครียดจนเคยตัว
.
หากรู้สึกว่ายากที่จะหยุดยั้งบางความคิด เราก็ต้องลดละการใช้ชีวิตแบบที่อยู่ในความคิดมากเกินไป ดูแลร่างกายให้มากขึ้น ออกมารับฟังเรื่องราวของคนอื่น เปิดใจให้เรื่องราวของตนเองได้ถูกระบายออกไป เพื่อดึงสติออกมาอยู่กับโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่ในหัวตนเอง
.
การเสพติดเพื่อชดเชยความผ่อนคลาย หรือเพื่อหนีจากความเครียดต่างๆ ก็ต้องสำรวจให้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำมาสู่ความเครียดในร่างกายและจิตใจอย่างไรบ้าง บุหรี่ก็ดี สุรา ละครหรือเกมก็ดี ลองสังเกตความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างเสพติดสิ่งเหล่านั้น เราผ่อนคลายจริงๆ หรือเพียงโดนหลอกว่าผ่อนคลาย มันช่วยแก้ปัญหา หรือซ้ำร้ายปัญหาและความเครียดในกายจิตมากขึ้น
.
การหยุดยั้งไม่หาปัจจัยและไม่เป็นปัจจัยที่จะก่อความเครียดเพิ่มขึ้นต่อไป คือสิ่งสำคัญที่เราต้องทำเพื่อดูแลตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ บ่อยครั้งที่อุปสรรคสำคัญมาจากการคิดของเราไปเองว่า เราไม่มีทางเลือก เราหยุดมันไม่ได้ เหล่านี้ล้วนแต่ไม่ใช่ความจริง เป็นเพียงการขาดสติและขาดความเชื่อมั่น
.
เรามีทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งที่ทำให้ตึงเครียดเพื่อที่จะมีคุณค่าหรือความมั่นคง เราไม่จำเป็นต้องเครียดเกินไปเพื่อพยายามทำให้ตนเองดีพอหรือมีสิ่งที่ต้องการ และเรามีความสามารถมากพอที่จะไม่ต้องหันหน้าพึ่งพาการเสพติดทั้งหลาย
.
.
เยือกเย็น :
.
ความเครียดไม่อาจแก้ได้ด้วยความเครียด ความตึงและความตื่นตัวเกินพอดี ไม่อาจแก้ได้ด้วยความตึงและความตื่นตัวที่ไม่พอดี
.
ใช้ชีวิตและอยู่อย่างเยือกเย็น โรคภัยจากความเครียดก็จะไม่ถามหา มีท่าทีหรือพฤติกรรม คำพูด และความคิด ไม่ให้ตึงเกินไปหรือหย่อนยานเกินไป ไม่ตื่นตัวหรือตื่นกลัวจนขาดสติกับเรื่องใดๆ ที่เข้ามาในชีวิต กล่าวในทางพุทธศาสนาก็คือประกอบด้วยกรรมทั้งสาม คือกาย วาจา และใจ ด้วยความเป็นกุศล คือเป็นประโยชน์และมีสติ เท่านี้เราก็ควบคุมความเครียดให้พอดีได้แล้ว ไม่ก่อความเครียดเกินจำเป็นให้เกิดแก่ตนเองและคนรอบข้างแล้ว
.
เยือกเย็น ประกอบด้วยสองคำ คือ เยือก และ เย็น การเยือกในที่นี้ก็คือการสำรวมระวังและช้าลง ระวังด้วยการสังเกตดังข้างตน ช้าลงด้วยการรู้หยุดยั้งหรือลดละการก่อความเครียดทั้งหลาย และปรับการใช้ชีวิตไม่ให้เร่งรีบหรือพยายามอะไรมากเกินไป การเย็นในที่นี้ตรงข้ามกับร้อนรน ก็คือการไม่ตื่นตัวและไม่ตื่นกลัวจนเกินพอดี ไม่แตกตื่นตกใจกับสิ่งใดๆ ง่ายดาย มีสติรู้เท่าทันตนเองทั้งกายและจิตใจในปัจจุบัน
.
ถ้าเย็นใจได้ กายก็จะเย็นตาม เย็นใจด้วยการรู้รอคอย อดทนอดกลั้น สงบและวางใจ คิดในทางที่เป็นประโยชน์ ระลึกในสิ่งที่พึงระลึก ฯ แต่หากเย็นใจไม่ได้ แต่อย่างน้อยเย็นกาย คือเย็นในการกระทำ ด้วยการมีสติรับรู้ร่างกายก็ดี ชะลอการกระทำต่างๆ ทำอะไรให้ช้าลงและรอบคอบ ปรับเปลี่ยนบุคลิกและพาร่างกายนิ่งสงบ ฯ เมื่อนั้นใจก็จะสามารถเย็นตามกายได้ เมื่อกายใจเย็นแล้วความเครียดอันไม่เหมาะสมก็จะไม่เกิดขึ้น
.
เมื่อชีวิตตึงเครียด เพราะการยึดติดต่างๆ เราก็ต้องรู้ผ่อนคลายด้วยการหย่อนบ้าง ยืดหยุ่น ผ่อนปรน รู้วาง รู้อภัย หากชีวิตตื่นตัวด้วยความกลัวจนเป็นทุกข์ พึงรู้ทันความทะยานอยาก แล้วเย็นลงด้วยความไม่อยากและหักห้ามใจในการรีบทำตามความอยากทั้งหลายนั้น
.
ในช่วงเวลาที่ตึงเครียดมากนัก การตัดสินใจที่สำคัญหากชะลอออกไปได้ก็พึงชะลอออกไปก่อน ควรปรึกษาและรับฟังผู้อื่น อย่าปิดกั้นและแบกรับสิ่งใดไว้เพียงลำพัง และอย่ารีบร้อนที่จะหาทางออกจากความทุกข์โดยไม่คิดอย่างรอบคอบ ความเย็นใจ ความสงบกายจิต จะช่วยให้เรามีสติ จนเกิดปัญญาเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสม ความรีบร้อนทำให้เกิดความประมาท เพราะขาดสติ การคิดและการตัดสินใจต่างๆ มักไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้นหรือซ้ำร้ายปัญหาให้เลวร้าย
.
การกลับมาอยู่กับลมหายใจคือเครื่องมือในการบำบัดความเครียดที่เรียบง่ายและได้ผลมากที่สุด กลับมาอยู่กับลมหายใจอย่างเยือกเย็น ให้ลมหายใจช่วยเราสงบกายใจมากพอก่อนที่จะคิดแก้ปัญหาใดๆ แม้การกลับมาดูลมหายใจเพียงวินาทีเดียวก็อาจช่วยชีวิตเราและคนรอบข้างได้แล้ว
.
.
ยอมรับ :
.
ความตึงเครียดมักเกิดจากความกลัวที่จะยอมรับความเป็นไปและความเป็นจริงของชีวิต พยายามสู้หรือหนีจากความเป็นธรรมดานั้นจนเป็นทุกข์ การตระหนักและยอมรับในความเป็นจริงอย่างไม่พยายามสู้หรือหนีเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการปลดปล่อยตนเองจากความเครียด
.
ความจริงสามประการที่เราควรยอมรับเมื่อเจอกับปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆ เพื่อรับมือด้วยความเครียดที่เหมาะสม ได้แก่ หนึ่ง “ไตรลักษณ์” ลักษณะสามประการของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่มีใครและสิ่งใดที่จะพ้นไปจากสามลักษณะนี้ อนิจจังคือความไม่แน่นอน ทุกขังคือการเสื่อมลงและมีความทุกข์ ส่วนอนัตตานั้นคือความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งไม่อาจมีอยู่อย่างคงที่ ไม่เป็นไปอย่างที่ยึดติด และประกอบด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ มิใช่ตัวตน เมื่อใดก็ตามที่ไม่ยอมรับในความเป็นไตรลักษณ์ ความเครียดอันเกิดจากการพยายามมากเกินไปที่จะต่อสู้หรือหนีไปจากลักษณะทั้งสามนี้ก็จะทำร้ายกายจิตให้เป็นทุกข์
.
ความจริงอย่างสอง “อิทัปปัจจยตา” คือการที่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย และดับไปด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ แล้วต่างก็เป็นเหตุปัจจัยให้กัน เมื่อเรายอมรับความจริงข้อนี้ก็เพียงเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นว่ามันก็เพียงเกิดขึ้นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปเพราะว่าเราดีพอหรือไม่ดีพอ ไม่เป็นไปเพราะเราอยากหรือไม่อยาก มันเกิดเพราะปัจจัยทั้งหลายทั้งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้
.
เราทำได้แต่เพียงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งๆ เท่านั้น แม้ปรารถนาดีหรือพยายามมากเพียงใดก็เป็นเพียงแรงเล็กๆ และปัจจัยน้อยๆ ท่ามกลางแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงดาวในจักรวาล การฝืนทำในสิ่งที่เกินขอบเขตและการพยายามควบคุมในสิ่งที่ไม่อาจควบคุม ยิ่งตอกย้ำความเครียดให้มีมากขึ้น
.
ความจริงอย่างที่สาม ต้นเหตุของความเครียดมากจาก “อัตตา” ด้วยการวางใจไม่ถูกต้องเพราะขาดสติแล้วหลงผิดลืมเลือนความจริงในสองข้อแรกนี้ไป จิตจึงพลอยนึกไปว่าสิ่งนั้นๆ เป็น นิจจัง (เที่ยงแท้) เป็นสุขขี และเป็นอัตตา ลืมความเป็นอิทัปปัจยตาไป แล้วเอาตัวตนของตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เอาทุกอย่างมาผูกโยงไว้กับตัวเราและความเป็นของเราจนเป็นทุกข์
.
ความจริงข้อสุดท้ายนี้กล่าวคือ ตัวเราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แล้วการที่ยิ่งเอาความเป็นตัวตน และความเป็นของตน เป็นที่ตั้งมากเท่าใด ยิ่งสร้างความเครียดแก่ตนเองและคนอื่นมากเท่านั้น เพราะยิ่งทำให้เราลืมเลือนความเป็นจริงและแบกรับทุกสิ่งไว้ขึ้นอยู่กับตัวตนของตนเอง เมื่อแบกสิ่งใดมากมันก็หนัก เมื่อหนักความตึงก็เกิดขึ้นทั่ว นำมาสู่ความเหนื่อยล้าและความเจ็บปวด การแบกรับนั้นเกิดขึ้นก็เพราะการไม่เข้าใจในความจริงข้อนี้
.
สิ่งใดจะเกิดก็ต้องเกิด เราไม่อาจหนีหรือสู้กับความจริงได้ สิ่งใดตั้งอยู่แล้วถึงคราวต้องดับก็ต้องดับไป แค่ยอมรับมันก็ไม่เครียดจนต้องป่วยใจ ความเครียดเกิดจากการตอบสนองต่อความจริงอย่างผิดๆ พยายามหนีหรือสู้จนบีบคั้นตนเองให้ทุกข์ทวี เราไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ มีหน้าที่แค่มาเรียนรู้และยอมรับกับความไม่แน่นอนทั้งหลายบนโลก เราไม่ได้มีหน้าที่ต้องเครียดเพื่อเอาชนะความจริงใดๆ แค่เข้าใจและวางใจให้สุขเย็นกับความจริงของชีวิตก็เพียงพอ
.
ส่งท้ายในข้อนี้ก็ขอยกคำกลอนจากท่านพุทธทาส โดยมีความว่า
.
“ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข
อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน
มันจะสุม เผากระบาล ท่านทั้งวัน
ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา
เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู
มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า
อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา
มันคึกว่า “กู-ของ-กู” อยู่ร่ำไป
จะหามา มีไว้ ใช้หรือกิน
ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้
โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไรๆ
ผูกยึดไว้ ว่า “ตัวกู” หรือ “ของกู”ฯ” *
.
.
ยินดี :
.
ความเครียดเกิดจากการที่เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันตราย เป็นศัตรู เป็นสิ่งที่จะมาก่อความทุกข์และความรู้สึกไม่น่าพึงใจ แม้แต่เรื่องดีๆ ก็ทำให้เราเครียดได้หากเรามองในแง่ลบเช่นนี้
.
การเข้าใจความจริงข้างต้นอย่างขาดสติก็อาจทำให้เราระแวงแคลงใจเกินไป จนไม่อยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มที่ คอยวิตกไปก่อนล่วงหน้า นี่ก็ยังถือว่าอยู่ในการพยายามหนีความจริงและตื่นตัวเกินไปจนมีความเครียด
.
การตระหนักในความจริงทั้งสามข้างต้นมิใช่เพื่อให้เราหมดกำลังใจที่จะอยู่บนโลกอย่างมีความสุข แต่เพื่อให้เรารู้จักยินดีในสิ่งที่มีและสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม
.
การรู้ยินดีในสิ่งที่มีและเกิดขึ้นจะทำให้เราไม่เครียดกับสิ่งทั้งหลายจนเป็นทุกข์ การรู้ยินดีในที่นี้ อาจเรียกอีกแบบได้ว่า การรู้จัก “ขอบคุณ”
.
สิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ในตนเองและมีอยู่รอบตัว และทุกเหตุการณ์กับทุกคนที่เข้ามาให้พบเจอ รวมทั้งการพลัดพรากจากไปด้วย ต่างก็มีคุณค่าไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง ต่างมาเป็นครูสอนธรรม ต่างมามอบของขวัญบางอย่าง ต่างมาทำให้เราได้เติบโตหรือเข้าใจชีวิตในแง่มุมที่กว้างขวางมากขึ้น ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแก่เราแล้วจะไร้ซึ่งคุณค่า เราพึงยินดีหรือขอบคุณทุกสิ่งที่เข้ามาและจากไป จิตใจจะได้ไม่ต้องคอยตั้งท่าหรือตั้งการ์ดอันนำมาสู่ความตึงและความตื่นตัวเกินพอดี
.
แม้แต่ความทุกข์และปัญหาทั้งหลาย พวกเขาไม่ใช่ศัตรูของเรา ไม่ใช่สัตว์ร้ายที่เราจะต้องดึงสัญชาตญาณออกมาต่อสู้หรือหลบหนี พวกเขาแค่มาตามเหตุปัจจัยดังธรรมะคำสอนเรื่อง อิทัปปัจจยตา มาแล้วก็ย่อมจะจากไปตามกฎของ ไตรลักษณ์ ความทุกข์และปัญหาเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามีคุณค่าน้อยหรือมากกว่าใคร ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองอัตตาหรืออีโก้ตน มีเหตุผลที่ดีที่พวกเขาจำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงนี้ จำเป็นต้องมาหาเราในตอนนี้ เพื่อมอบหรือเตือนบางสิ่งที่สำคัญในชีวิต
.
เรารับมือกับสิ่งที่ไม่น่าพึงใจด้วยรอยยิ้มและการขอบคุณได้เสมอ เมื่อเราไม่ได้มองสิ่งเหล่านั้นเป็นศัตรูหรืออันตรายแล้ว กลไกกายจิตที่จะตึงและตื่นตัวจนตึงเครียดย่อมไม่เกิดขึ้น
.
การยินดีอีกอย่างที่สำคัญ คือการยินดีในสิ่งที่ตนเองเป็น เพราะความเครียดส่วนหนึ่งก็เกิดจากการไม่พอใจในตนเอง อยากดีกว่านี้ อยากมีหรือเป็นมากกว่านี้ อยากให้ดีพอ เป็นต้น จึงพยายามอะไรมากมายในชีวิตจนเป็นทุกข์ ดังนั้นเราจึงพึงชื่นชมในสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ เคารพในคุณค่าด้วยการไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีงาม และยินดีแม้ในความไม่สมบูรณ์แบบที่ยังบกพร่องอยู่
.
ความตึงเครียดไม่อาจแก้ด้วยความตึงเครียด ฉันใด เราก็ไม่อาจใช้ความโกรธ ความเกลียด และความวิตกกังวล แก้ไขจัดการสิ่งที่ทำให้เครียด ฉันนั้น ในเมื่อความตึงเครียดนั้นเกิดจากความไม่ยินดี เราก็ต้องใช้ความยินดีในการแก้ไข ด้วย “พรหมวิหาร” อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
.
หมั่นฝึกบอกกล่าวตนเอง ผู้คนและสิ่งทั้งหลายด้วยสี่คำดังต่อไปนี้ ได้แก่ ขอบคุณ ขอโทษ โปรดให้อภัย และ รัก แล้วจิตเราจะเต็มไปด้วยความยินดีที่พร้อมมอบให้แก่ตนเองและสิ่งทั้งหลายที่เผชิญ ย่อมสามารถอยู่ร่วมกับทั้งสิ่งที่น่าพึงใจและไม่น่าพึงใจได้อย่างผ่อนคลายและเบิกบาน
.
แม้แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็เป็นผู้ส่งสาส์นแก่เรา อาจบอกให้รักและเมตตากายใจมากขึ้นกว่านี้ อย่าไปเมตตางาน เงิน หรือสิ่งนอกตัวต่างๆ จนมากเกินไป
.
.
๕ สัจจะคาถา เป็นผู้ช่วยผ่อนคลายจิต :
.
คติธรรมที่สอดคล้องกับความจริง หากมีไว้ประจำใจก็สามารถนำมาใช้เป็นที่ระลึกให้จิตเหนี่ยวนำออกจากอารมณ์ที่เผชิญ เรียกว่าเป็นอนุสติและคำบริกรรม เมื่อเจออารมณ์ที่ยากจะมีสติหรือยากจะระงับใจไว้ได้ ก็ขอให้เราระลึกถึงคติธรรมที่ดีสั้นๆ อย่างมีสติและเป็นประจำสม่ำเสมอ จะเป็นเครื่องมือช่วยรับมือกับความเครียดได้
.
คาถาบริกรรมหนึ่งที่ขอแนะนำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังแบกรับสิ่งต่างๆ ไว้มากเกินไป คือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” หรือ “ไตรลักษณ์หนอ” “แค่ไตรลักษณ์” หรือเรียกย่อดังคำอุทานแต่โบราณว่า “อนิจจาๆ”
.
เมื่อยอมรับด้วยใจจริงว่าสิ่งใดๆ ก็ไม่เที่ยงแท้ การจะไปยึดติดให้เป็นทุกข์ก็ย่อมน้อยลงไป การยอมรับว่าสิ่งใดๆ ก็ย่อมเสื่อมไปและเป็นทุกข์ทั้งนั้น มิว่าสมหวังหรือผิดหวังก็ตาม การจะแบกรับและเสียใจกับสิ่งเหล่านั้นก็ย่อมน้อยลง และยิ่งตระหนักได้ว่าไม่ว่าสิ่งใดๆ ก็ไม่อาจเป็นตัวตนอันเที่ยงแท้และไม่อาจถือว่าเป็นของตนอย่างแท้จริงได้ จิตก็จะแบกรับน้อยลงไปเอง ย่อมหน่ายที่จะไปเกาะเกี่ยวให้เป็นทุกข์ด้วยตนเอง
.
อีกคาถาหนึ่งซึ่งถือว่าแก้ได้ทุกโรคทางจิต ทุกความทุกข์ และทุกความเครียดทั้งหลาย เมื่อใจยึดเหนี่ยวไว้ในธรรมเหล่านี้ อ่านเป็นบาลีว่า
.
“เนตังมะมะ
เนโสหะมัสมิ
นะ เมโส อัตตาติ” **
.
แปลว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นตัวเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน มาจาก อนัตตลักขณสูตร ในพระไตรปิฎก ขอร้อยเรียงเป็นกลอนไว้สำหรับการสอนและการระลึกดังนี้
.
สิ่งเหล่านั้นไม่อาจเอาไว้ถือ
ว่านี่คือของฉัน ฉันครองได้
มิเป็นตัวแต่งตั้งแห่งกายใจ
และไม่ใช่อัตตาอันเที่ยงแท้
.
ยิ่งเราเอาสิ่งใดมาเป็นตัวตนหรือของๆ ตน นั่นก็เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดความเครียดและความทุกข์แล้ว เมื่อคลายจากตัวตนหรือของๆ ตนลงได้ แม้เพียงเล็กน้อย น้ำหนักที่กดทับจากการแบกรับก็ลดลง การคลายจากการถือมั่นในตัวตน นำมาซึ่งความผ่อนคลายที่แท้จริง
.
เมื่อเครียดกับสิ่งใดๆ ที่เราใส่ใจมากนัก พึงตระหนักไว้อย่างนี้ ระลึกถึงคาถาดังกล่าว เนตังมะมะ เนโสหะมัสมิ นะ เมโส อัตตาติ มันไม่ใช่ตัวตนฉัน มันไม่ใข่ของๆ ฉัน มันไม่เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ หรือเมื่อเครียดกับอาการทางกายหรือทางจิตใจ เพราะความป่วยไข้ ความไม่สบาย หรือความไม่ได้ดังใจ ก็ให้ระลึกไว้อย่างเดียวกัน เนตังมะมะ เนโสหะมัสมิ นะ เมโส อัตตาติ สิ่งที่เกิดขึ้นมิว่าเป็นอาการหรือปัญหาก็จะแลเห็นเป็นเพียงสภาวะหนึ่ง มิใช่ตัวฉัน มิใช่ของๆ ฉัน มิใช่ตัวตนใดใด
.
เราอาจหาสัจจะคาถาอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมาจากพุทธสุภาษิตก็ได้ เป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาธรรมดาที่เราคุ้นเคย ขอเพียงว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงก็พอ เพราะเมื่อใดที่เรามองความจริง ยอมรับความจริงอย่างเต็มที่ ความทุกข์จึงจะไม่เกิดขึ้น ความเครียดก็จะไม่รบกวน เพราะความจริงนั้นจะปกป้องเราเอง
.
เราไม่อาจยอมรับความจริงเช่นนี้ได้ตลอดเวลาเพราะอำนาจของปัจจัยด้านลบทั้งหลาย แต่หากมีสัจจะคาถาไว้ประจำใจ ใช้บริกรรมดึงสติกลับมา ย่อมเหมือนมีไฟฉายติดตัวไว้ในยามมืดมน
.
จะใช้คาถาเพื่อคลายเครียดคลายทุกข์ต่างๆ ได้ผล ย่อมมีสองปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกนำออกมาใช้อยู่เนืองๆ ด้วยการบริกรรมหรือระลึกถึงบ่อยๆ เหมือนการเตือนตนให้รู้ว่ามีไฟฉายอยู่ตรงนี้ มีไฟฉายติดไว้อยู่ตรงนี้ ฝึกใช้จนถนัด จะได้หาเจออย่างรวดเร็วและใช้เป็นเมื่อยามมืดมนมาถึง
.
ปัจจัยที่สองก็คือการฝึกภาวนาทำสมาธิ หากเปรียบเทียบคำบริกรรมกับไฟฉายแล้ว การฝึกภาวนาก็เป็นเหมือนการบำรุงรักษาไฟฉายและการใส่ถ่านที่มีพลังงานมากเพียงพอเอาไว้ หากเราระลึกถึงคำบริกรรมบ่อยๆ แต่ไม่ได้ฝึกสมาธิให้ดี เราอาจไม่มีพลังงานมากพอที่จะส่องฉายผ่านความมืดมนในชีวิตไปได้ การบริกรรมนั้นเป็นอนุสติ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจากภายนอก แต่การฝึกสมาธิภาวนาคือการฝึกกำลังของใจผ่านการมีสติอยู่ที่ตัว ผ่านลมหายใจ หรือร่างกาย
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๙

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

* หนังสือ ตัวกู ของกู โดย พุทธทาส อินทรปัญโญ
** พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ ภาษาบาลี อักษรไทย พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ วินย. มหาวคฺโค (๑) [ ๒๐-๒๔ ]