วิธีจัดการความเครียดสะสม

18330

วิธีจัดการความเครียดสะสม

#บทความไกด์โลกจิต

.

เริ่มต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ยามที่เราเผชิญปัญหาแล้วรู้สึกเครียด กังวลใจ และอารมณ์ลบต่างๆ เหล่านั้นมาจากกลไกของจิตใจที่ต้องการปรับตัวเราให้พร้อมรับมือสิ่งต่างๆ กลไกที่ว่านี้อาจเรียกว่า ปฏิกิริยาการปรับตัวปกติของจิตใจ (Adjustment reaction/ normal reaction)

.

สิ่งนี้ดีอยู่แล้ว ในแง่ที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนระวังภัยให้เรารับมือสิ่งต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที แต่ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำเติมเราเมื่อ กลไกลการปรับตัวดังกล่าว ทำงานมากเกินไป หรือทำงานติดต่อกันมากเกินไป กลายเป็นร่องความเครียด หรือร่องอารมณ์ด้านลบ ทั้งระดับร่างกายและจิตใจ

.

สิ่งดังกล่าวเลยไม่ใช่ปฏิกิริยาการปรับตัวตามปกติแล้ว กลายเป็นโรคเครียด หรือเรียกว่า ภาวะ “การปรับตัวผิดปกติ” (adjustment disorder)

.

7 ข้อดังต่อไปนี้ เป็นสัญญาณบอกว่า กลไกของจิตใจเราพยายามเตือนภัยมากเกินไปแล้ว

1. เครียดมาก…จนบกพร่องชัดเจนในหน้าที่การงาน หรือ การเรียน

2. เครียดมาก…จนบกพร่องชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์

3. เครียดมาก…จนบกพร่องชัดเจนในการเข้าสังคม

4. เครียดมาก…จนส่งผลต่อการกิน การนอนผิดปกติ ไปหมด

5. เครียดมาก…จนวันๆ หมกมุ่น ครุ่นคิดต่อเรื่องนั้น จนไม่เป็นอันทำอะไรกันเลย

6. เครียดมาก…จนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว เกเร เป็นต้น

7. เครียดมาก…จนบกพร่องชัดเจนในการดูแลตัวเอง เช่น ไม่ใส่ใจตัวเอง หรือมีความคิด/มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรืออาจเลยเถิดไปเป็นการพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น

.

ผศ.พญ.ผู้เขียน 7 ข้อข้างต้นนี้ในเว็บไซต์ผู้จัดการแนะนำว่า “เมื่อเราเช็คสัญญาณเตือนภัยแล้วพบว่ามันกำลังทำงานตื่นตัวผิดปกติไปเสียแล้ว เราสามารถดูแลตัวเองได้อย่างไรบ้าง”

1. หาสาเหตุของความเครียด

ใจเย็น กลับมาหาความสงบของใจ ค่อยๆ จับต้นชนปลาย หาหลักให้มั่นคง รับฟังความรู้สึกของหัวใจ ดูแลว่าเรื่องใดทำให้เราเครียดและรู้สึกไม่ดี สิ่งใดเกิดจากสิ่งรอบข้าง และสิ่งใดเกิดจากตัวเราเอง หัวใจเราต้องการความรู้สึกใด เราจะมอบสิ่งนั้นให้ตัวเองได้อย่างไร

2. ทำความเข้าใจปัญหานั้น

ค่อยๆ พิจารณาความจริงที่เกิดขึ้น ใช้หลักอริยสัจสี่ คือ พิจารณาปัญหาและสาเหตุของปัญหาตามที่เป็นจริง เข้าใจปัญหานั้นว่าเกิดขึ้นตามสภาพปัจจัย ไม่เอาตัวเราหรือหัวใจเข้าไปพัวพัน เห็นมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติเพราะมีปัจจัยอย่างไรก็เกิดผลตามนั้น “ใบไม้หล่นที่พื้น แค่กวาดมันที่พื้น”

3. ถ้าปัญหาทำให้หนักอกหนักใจมาก ต้องหาผู้ช่วย

เราไม่จำเป็นต้องแบกโลกไว้ลำพัง เราทุกคนมีคุณค่าความสำคัญและควรค่าแก่การช่วยเหลือ หาเพื่อน คนในครอบครัว และคนที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษาและดูแลจิตใจ เป็นเพื่อนรับฟังและปรึกษา คนที่เราไม่คิดว่าจะช่วยเราได้ บางทีเขาสามารถช่วยเราได้ เราอาจกังวลใจมุมมองหรือสายตาคนอื่น แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เราทุกคนเมื่อเห็นความทุกข์ในเพื่อนมนุษย์ย่อมเผยเมตตาธรรมในหัวใจ การพบผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและดูแลจิตใจก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี เพราะพวกเขาย่อมมีอุบายและวิธีการดูแลเราได้อย่างเต็มที่

4. ไตร่ตรองดูปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง โดยใช้วิธีการต่างๆ อาทิเช่น “เขียนปัญหาทั้งหมดลงในกระดาษ

การเขียนจะช่วยให้เห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้นกว่าการคิดวนๆ อยู่ในหัว การคิดวนๆ อยู่ในหัว ยิ่งคิด จะยิ่งเพิ่มความยุ่งเหยิงยุ่งยิ่งของปัญหามากขึ้นไปอีก เพราะความวน และความคิดที่สะเปะสะปะไร้ระบบ” ซึ่งยิ่งย้ำความเครียและอารมณ์ลบ การทำงานศิลปะและการเขียนช่วยให้เราปลดเปลื้องและมองปัญหาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

.

ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์

หลักสูตร #เขียนเปลี่ยนชีวิต

เรียบเรียงและแนะนำเสริม

.

ที่มาข้อมูล http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx…

อ่านบทความไกด์โลกจิต อื่นๆ

https://www.dhammaliterary.org/?page_id=3493