คัดบางถ้อยคำจากบันทึกและสรุปบทเรียน
คอร์ส “ปฏิบัติ #เขียนภาวนา” พฤษภาคม 2564 (2)
.
สิ่งที่ได้รับจากการฝึกเขียนภาวนา…
.
“การเปลี่ยนแปลง ปกติไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร เพราะรู้สึกไม่มั่นคง และเกิดความสงสัย ทำให้คาดเดาไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงแรกที่พบคือ “การยอมรับความเปลี่ยนแปลง” ว่านี่คือธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป และเริ่มข้าใจได้ อยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่รู้สึกต่อต้าน หรือแปลกแยก นั่นคือส่วนหนึ่งของชีวิต ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยน
.
การเริ่มยอมรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทั้งสภาวะภายนอกและภายใน เฝ้าดู รู้ ตามความเป็นจริง เมื่อถึงเวลา วาง..วาง วางทั้งการกระทำและใจ ทำเมื่อถึงเวลาทำ และทำให้เต็มกำลัง ณ ปัจจุบัน คิดปรุงแต่งน้อยลง กลับมาอยู่กับลมหายใจตัวเองมากขึ้น เป็นระยะๆ ขณะที่ทำกิจต่างๆ ทั้งในการเขียนภาวนา และการดำเนินชีวิตในกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่ได้ฝีนหรือบังคับให้ทำ
.
หายใจได้เต็มปอดมากขึ้น มองตัวเองและคนอื่น สิ่งอื่น อย่างที่เป็น มองเห็นผ่านไป สิ่งใหม่ผ่านมา ตามจริง สิ่งเก่าผ่านมา มองใหม่ ผ่านไป ตามจริง เหมือนได้ใช้ชีวิตที่มีการเรียนรู้ทั้งภายนอกและภายใน เท่าทันความฟุ้ง ตามสภาวะ ตามกำลัง
.
เขียน ระบายออก
คิด นำเข้า
หายใจออก ระบายออก
หายใจเข้า หล่อเลี้ยงร่างกาย
จังหวะมา ปัญญาเกิด
รู้พัก ผลัดเปลี่ยน เสริมสร้างพลัง
เว้นวรรค เห็นชัด เรียงร้อย สวยงาม
เว้นว่าง หมุนเวียน ปัญญาก่อตัว
ว่างคิด จิตสงัด ข้างในก่อแสง ประกาย
ทุกข์ดำ มืดมิด ขุ่นมัว มองไม่เห็นทาง
ผัดผ่อน พอดี พอใจ เปล่งแสงสว่างตน
รู้จังหวะ เข้าใจธรรมชาติ
หยุด ธรรมชาติ เดินไปไม่ท้อ เก็บแรง เก็บใจ
ปกติ เกิดดับ สนองธรรมชาติ ตนไม่มี ว่าง
ดี ไม่ดี มีตลอด
หนักเน้อ
หายใจออกได้
ผ่อนคลาย
ทำไม่พยายาม
ทำหน้าที่
กิจตน
พระอาทิตย์ส่องทาง
ธรรมนำใจ
ทำได้ ดั่งหายใจ”
.
/ ชมพู ผู้เขียน
.
.
“อารมณ์ใดๆ
ความคิดใดๆ
ความทรงจำใดๆ
ภาพก็ดี
เสียงก็ดี
กลิ่นก็ดี
รสก็ดี
สัมผัสก็ดี
ก็เท่านี้เอง
.
จากที่เดิมเผลอปรุงต่าง แต่ตอนนี้เริ่มจับสภาวะเมื่อเริ่มปรุงแต่งได้แล้ว ได้ดีขึ้น รู้ตัวมากขึ้น แยกแยะได้ว่าอันไหนคือสาระ อันไหนคือปรุงแต่ง”
.
/ เดียร์ ผู้เขียน
.
.
“การเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการฝึกที่ผ่านมาคือ รู้สึกมีฉันทะที่จะเพียรพยายามภาวนาให้เจริญงอกงามดีสม่ำเสมอยิ่งขึ้น
.
สิ่งที่เขียนสอนหลักแนวทางที่จะให้มุ่งมั่นตั้งใจดำรงอยู่บนเส้นทางนี้อย่างแน่วแน่มั่นคงเปรียบดังเสาหลักปักไว้ในใจ ภาพที่วาดสอนเหตุปัจจัยและองค์ประกอบที่ไม่ควรตีขลุมเหมารวมเป็นการตีความให้ยึดติดมั่นหมาย
.
มีและไม่มี เกิดและดับ ยึดและปล่อย เป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีของเราหรือของใคร ไม่เป็นตัวเป็นตน ผันแปรไปตาม “กรรม”
.
เขียนคำ มัดกิเลส
อักษรพาปล่อยสิ่งลวงหลอก
หลงลิขิตจับจิต”
.
/ ต่าย ผู้เขียน
.
.
“ใน ชีวิต ปัจจุบัน ที่ รีบเร่ง
สนใจ แต่สิ่งนอกกาย
ไม่ ได้หยุด
ได้ มาฝึก การเขียนภาวนา
ได้ สังเกต ลมหายใจ ที่บางเบา
ได้ รู้จัก หยุดบ้าง เพื่อรู้ทัน
ไม่ หลงไป ในสิ่งเร้า ที่มากเกิน
ได้ สติ สมาธิ และ ความเพียร
ได้ รู้สึกถึง ลมหายใจ ของเราเอง
ได้ เห็นในตัวตน ที่ต้องปรับ
ได้ ยอมรับ ในตัวตน ที่เป็นอยู่”
.
/ นัท ผู้เขียน
.
.
“ฉันสามารถเห็นกิเลสและอัตตาได้ชัดเจนขึ้น รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง ความอยากมี/เป็นที่ฝังลึกในจิตใจ เห็นตัวเองชัดขึ้น มีฉันทะ และความเพียรในการปฏิบัติมากขึ้น และรู้ว่าอะไรที่ยังต้องมุ่งพัฒนา
.
สอนให้เราทบทวนสิ่งที่เรายึดติดอย่างไม่รู้ตัว และสอนให้เห็นว่าสิ่งใดที่เราให้ค่าในชีวิต รู้จุดแข็ง จุดอ่อนตัวเองมากขึ้น ให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ใช้สติค้นหาตัวเอง เพื่อเข้าถึงจิตใต้สำนึก เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาได้ดีขึ้น เห็นความยึดติดที่ต้องละปล่อยวาง ให้อภัยตัวเอง
.
เหรียญมีสองด้าน อะไรที่มากไปหรือน้อยไปไม่พอดี ก็ทำให้เราเข้าถึงอริยมรรคได้ยาก ต้องคอยระลึกสังเกต พิจารณากาย วาจา ใจ บนหลักสติปัฏฐาน4 มีกุศลธรรมหลายตัวที่เป็นบ่อเกิดแห่งอกุศลธรรมบางตัวได้เช่นกัน เพียงคอยระวังและเฝ้าดู ปรับให้เหมาะสม ถ้าเพียร((วิริยะ)มากเกินพอดี ก็อาจกลายเป็นมุ่งเอาชนะ ถ้าปีติหลงในความสงบมากไป ก็อาจกลายเป็นความเพลิดเพลินหลงใหลได้ ทางสายกลาง
.
หายใจออก ปากกาเริ่มเคลื่อนไหว
ลมหายใจ กำกับ จังหวะเขียน
รู้เท่าทันกายและจิตใจ
เฝ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม
สติ สมาธิ จดจ่อ ตรงทันปัจจุบัน
บ่มเพาะศีล สมาธิ ปัญญา
เห็นความไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ ไม่มีตัวตน
นี่แหละ หัวใจการเขียนภาวนา”
.
/ น้ำหวาน ผู้เขียน
หลักสูตร ปฏิบัติ เขียนภาวนา
https://punnspace.com/p/practice-meditationwriting
โครงการ ห้องเรียน เขียนภาวนา
https://www.dhammaliterary.org/เขียนภาวนา/