คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๓
ตอน “สร้างนาม”
เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร
เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘
กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์
การหาชื่อกลุ่มก็เป็นเรื่องที่พูดกันมาก คุยกันหลายรอบ จำได้ว่ามีเพื่อนชื่อสุชาย เป็นประธานชมรมพุทธศาสน์หรือภาษาไทย ผมจำไม่ได้แล้ว แต่ห้องชมรมติดกันกับชมรมภาษาอังกฤษที่ผมเป็นประธาน เป็นนักเรียนแผนกศิลป์ เป็นคนเรียบร้อย แบบมาตรฐาน คงอ่านหนังสือนอกห้องเรียนมากกว่าพวกเรา
เขาเห็นมนัสกับผมครั่งท่านอาจารย์พุทธทาสและสวนโมกข์เขาก็เหล่ๆ อยู่ แต่เราก็ทำงานร่วมกัน เขามาช่วยงานภาษาอังกฤษที่เราจัดกับศึกษานารีด้วย ดูเหมือนจะขึ้นโต้วาทีด้วยกัน เขามีพี่ชายอยู่มหาวิทยาลัย รุ่นไม่ห่างพวกเรา ทำให้สุชายรู้เรื่องกลุ่มเรื่องชมรมค่ายต่างๆในมหาวิทยาลัยบ้าง และดูเหมือนจะมีกลุ่มแบบไม่เป็นทางการอยู่ด้วย ชื่อกลุ่มยุวชนอาสา พี่ชายเขาก็เคยมาประชุมกับพวกเรา อาจจะเป็นการประชุมครั้งแรกที่บ้านโตดังกล่าวมาแล้วด้วย ผมชอบชื่อนี้ ฟังเพราะดี แต่มีคนใช้เสียแล้ว ก็ต้องคิดกันใหม่
ตอนนั้นรัฐบาลกำลังโฆษณาต่อต้าน “ผู้ก่อการร้าย” อย่างมากมาย ชีฯเลยเสนอชื่อ “ผู้ก่อาการดี” ผมก็ตรองเรื่องชื่อมาก จนเช้าวันหนึ่งขณะที่กำลังถอนขนไก่ช่วยงานที่บ้านก่อนออกมาโรงเรียน ชื่อสองชื่อผุดขึ้นมา ชื่อหนึ่งคือยุวชนสยาม อีกชื่อคือ ยุวสยามินทร์ แต่ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าชื่อหลังหมายถึงอะไรกันแน่ จึงได้ยุวชนสยามเป็นทางเลือกหนึ่ง
ช่วงที่จะหาชื่อจริงจังนั้น คงเป็นช่วงหลังเดือนพฤษจิกายน ๒๕๑๔ แล้ว เพราะเราเริ่มรู้จักรุ่นพี่ที่เป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากขึ้น หลังจากที่ผมและมนัสไปร่วมประชุมเรื่อง “อุดมคติของคนหนุ่มสาว” ที่วัดอุโมงค์ค์เชียงใหม่ จนได้ตื่นเต้นกับการถูกตำรวจล้อมกับเขาด้วย ความจำคนเรานี่ไว้ใจไม่ค่อยได้ ผมนึกว่าผมเป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น คนเดียวที่ไปประชุมคราวนั้น แต่เมื่อพบปะเพื่อนเก่ายุวชนสยามเมื่อปี ๒๕๔๖ มนัสบอกว่าเขาไปประชุมด้วย แสดงว่าเด็กหนุ่มคนนั้นมีแต่ตัวเองอย่างสุดๆเลยที่เดียว
แต่ประเด็นก็คือการที่เรารู้จักรุ่นพี่มากขึ้น ทำให้ได้ปรึกษาเรื่องการตั้งชื่อ จำได้ว่าเราเริ่มแวะเวียนไปที่ท่าพระจันทร์ เพราะเรารู้สึกคุ้นเคยกับ พี่นิรมล พฤฒาธร อรวรรณ ตั้งสัจพจน์ จรัล ดิษฐาอภิชัย ปรีดี บุญซื่อ และธัญญา ชุณชฎาธาร สมัยนั้นรุ่นพี่เหล่านี้จะเริ่มออกหนังสือเล่มละบาท แล้วมายืนขายตามหน้าประตูมหาวิทยาลัย พี่นิรมล หรือพี่นิ อยู่กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ พี่อรวรรณอยู่กลุ่มเศรษฐธรรม พี่จรัล กับพี่ปรีดี อยู่สภาหน้าโดม
เพราะหนังสือที่กลุ่มเหล่านี้ออกนี่เอง เราเริ่มเข้าถึงวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นมากขึ้น ผมประทับใจเรื่องของ แองเจลา เดวิด สตรีผิวดำในสหรัฐฯที่ต่อสู้กับรัฐ จากหนังสือของกลุ่มผู้หญิง เริ่มรู้จักท่าทีแบบเอกซิสเต็นเชียลิสต์ จากการคบกับพี่นิรมล ซึ่งกลายมาเป็นแบบของผู้หญิงในอุดมคติโดยไม่รู้ตัว เมื่อแก่ปาน ๕๐ แล้วนั่นแหละ ใหญ่(วิศิษฐ์)ถึงมาบอกว่า เห็นผมชื่นชมพี่นิฯตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ตั้งแต่คบกันใหม่ๆ พี่นิก็ชวนคุยเรื่องชีวิตกับความตาย ว่าชอบคิดเรื่องความตาย เห็นความตายเหมือนเพื่อนเล่น อีกนานทีเดียวผมจึงรู้ว่านี่เป็นหลักการหนึ่งในสี่ของลัทธินี้ที่มีอัลแบรต์ กามู เป็นศาสดา ร่วมกับซาตร์ แต่คนที่เป็นตัวเชื่อมสำคัญไปสู่การพัฒนาความคิดทางการเมืองในช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาที่สำคัญคือพี่อรวรรณ ที่ผมคงจะได้เล่นในตอนต่อไป
เมื่อไปปรึกษาเรื่องชื่อ พี่จรัลแนะนำว่าชื่อควรเป็นกลางๆ ไม่ใช่ยกย่องตัวเอง แบบผู้ก่อการดี อะไรทำนองนี้
ตอนนี้สรุปว่าในที่สุดกลุ่มเราก็ได้ชื่อว่ากลุ่มยุวชนสยาม มนัสเล่าเมื่อพบกันปี๒๕๔๖ว่าสันติสุขเป็นคนเสนอชื่อนี้เข้าที่ประชุม และให้ที่ประชุมเลือกกันในที่สุดก็ได้ชื่อนี้มา ผมไม่แน่ใจว่าทำไมสันติสุขเป็นคนเสนอ เดาเอาว่าผมเป็นคนไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเองนักที่จะเสนออะไรในที่ประชุม จึงวานให้สันติสุขเสนอแทนอะไรเทือกนั้น