8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม
“อริยมรรค” (ตอนแรก : ดวงตาแห่งพุทธะ)
หนทางสู่การตื่นรู้ มีอยู่ในชีวิตทุกๆ วัน หากน้อมนำมาพิจารณาและกระทำในทุกๆ ลมหายใจ ไม่ต้องรอปฏิบัติธรรมบรรลุผล เริ่มตั้งต้นได้ตั้งแต่ชาตินี้
.
.
#ดวงตาแห่งพุทธะ
#มุมมองต่อชีวิตที่เป็นคุณและถูกต้อง #สัมมาทิฏฐิ
.
เรือจะแล่นไปในทางใด ถึงฝั่งเมื่อไร ด้วยดีหรือไม่ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่สิ่งแรกที่สำคัญคือ กัปตัน และ ต้นหนเรือ – ผู้ชี้ทาง ได้มองไปยังทิศทางใด ด้วยความชัดเจนมากแค่ไหน และเห็นอะไรจากการมองนั้น
หากพวกเขามีมุมมองที่พลาด ดูผิดทิศ ไม่ระวังทางลม ไม่สังเกตอุปสรรค มองทางไปไม่กระจ่างชัดเจน อ่านแผนที่ไม่ถูก โอกาสที่จะไม่ถึงฝั่งหรือล่าช้าก็มีสูง
เช่นเดียวกันกับการขับรถยนต์ หากมีฝ้าไอน้ำหรือหมอกหนาบดบังกระจกหน้า หรือไม่อาจมองกระจกข้าง กระจกหลัง ได้ชัดเจนทันการณ์ในเวลาอันควร หรือคลาดสายตาจากการมองทางไปสนใจสิ่งอื่น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็มีมากตาม
มุมมองที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ในการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เช่นเดียวกัน
จึงเป็นเหตุให้ข้อแรกของ อริยมรรค หรือเรียกว่า อัษฎางคิกมรรค คือ “สัมมาทิฏฐิ” แปลว่า มุมมองที่ถูกต้อง เป็นเสมือนผู้นำทางให้เราก้าวไปพร้อมกับเจ็ดข้อที่เหลืออยู่อย่างถูกต้อง
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาว่า สัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความถูกต้อง และ ความไม่ถูกต้อง มีอยู่อย่างไรในพระพุทธศาสนา
“มิจฉา” คือความผิดเพี้ยน ส่วน “สัมมา” คือความถูกต้องตามจริง การแยกแยะว่าอะไรผิด อะไรถูก แบ่งเป็นสองระดับคือใน ทางโลก กับ ทางธรรม
ทางโลก คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้ชีวิต ผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น กับ กติกาทางสังคมหรือบริบทที่เกี่ยวข้อง ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัย ส่วนทางธรรมจะคำนึงถึงการพ้นจากทุกข์ การละจากกิเลส และการสอดคล้องกับความจริงที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ เป็นสำคัญ
ความเห็นใดก็ตามที่มิได้เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ มิได้เป็นไปเพื่อละกิเลส หรือขัดแย้งต่อความเป็นจริงของชีวิตก็จะยังมิใช่ สัมมาทิฏฐิ ตามหลักพุทธศาสนา
การไม่เห็นชีวิตอย่างที่เป็นจริง การมองชีวิตไม่ถูกด้านที่พึงมอง ล้วนทำให้เกิด “มิจฉาทิฏฐิ” คือความเห็นที่ผิดไปจากธรรม ไม่เข้าใจธรรมชาติของชีวิต เป็นผลให้การทำกรรมทั้งสามด้าน ได้แก่ กาย วาจา และใจ โลดแล่นผิดไปพาลพาให้เกิดทุกข์กับปัญหาไม่สิ้นสุด
เสมือนคนขับรถหรือเรือที่พาพาหนะเดินทางอย่างมืดบอด ไม่สามารถมองเห็นอย่างถูกต้องต่อความเป็นจริงของเส้นทางที่ใช้ ย่อมทำให้การขับขี่ การเลี้ยว การควบคุมความเร็ว และการตัดสินใจ ไม่สามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง
ในเรื่องของมุมมอง สมัยนี้มักสอนเกี่ยวกับการ “มองโลกแง่บวก” กันเสียส่วนใหญ่ แต่พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลก “เหนือบวก เหนือลบ” ยิ่งกว่าคอร์สหรือหนังสือจิตวิทยาสมัยใหม่สอนกัน คือสอนให้เห็นโลกอย่างที่เป็นจริง
โดยสรุปแล้วนั้น ความเป็นจริงแห่งโลก ที่ซึ่งมนุษย์ควรมองเห็นและพึงตระหนักมีอยู่สองเรื่อง ได้แก่ อริยสัจสี่ และ ไตรลักษณ์
อริยสัจสี่ คือการรู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การพ้นทุกข์ และทางดับทุกข์ รวมเป็นสี่ประการ
การมีมุมมองที่เป็นคุณต่อชีวิต เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ พึงเข้าใจชัดเจนว่า ทุกข์ นั้นคืออะไร ที่ตั้งแห่งทุกข์นั้นคืออะไร เรียกว่าเราต้องรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของชีวิตคือเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้หาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด
การที่เราโทษว่า ร่างกายป่วยเป็นปัญหา รัฐบาลแย่เป็นปัญหา พ่อแม่ไม่ฟังฉันเป็นปัญหา ความสัมพันธ์ไม่เกื้อกูลเป็นปัญหา การงานลำบากเป็นปัญหา ฯ นั่นยังไม่ใช่การเข้าใจทุกข์อย่างแท้จริง ยังเป็นเพียงเปลือกเท่านั้น
เราต้องมองลึกลงไปที่แก่นของปัญหาเพื่อให้เห็นทุกข์หรือปัญหาที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคน
พระสารีบุตร ศิษย์เอกท่านหนึ่งของพระพุทธเจ้า ได้สอนสรุปไว้นานมาแล้วว่า สัมมาทิฏฐิ คือการตระหนักว่าที่ตั้งแห่งทุกข์นั้นได้แก่อะไรบ้าง มีสิ่งใดเป็นบ่อเกิด และจะดับไปอย่างไร
ท่านได้สรุปรวมที่ตั้งแห่งทุกข์ ไว้ดังนี้ *(A)
1. อกุศล หมายถึงการทำชั่วทางกาย วาจา และใจ โดยมี “อกุศลมูล” หรือรากเหง้าแห่งความชั่ว เป็นบ่อเกิด อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ทั้งสามอย่างนี้หากละลงได้ การทำชั่วก็ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่เกิดหรือเกิดน้อยลงไปมาก
ขณะเดียวกันเราจะประเมินได้ว่าสิ่งใดเป็นการทำชั่ว หรือ อกุศล หรือไม่ เราก็ประเมินว่าสิ่งนั้นมาจากความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ แม้ภายนอกจะเป็นการทำความดี แต่หากภายในแล้วการกระทำนั้นมาจากมโนกรรมที่มีโลภ โกรธ หรือหลงอยู่ การกระทำนั้นก็ยังมิใช่กุศลที่แท้จริง เป็นที่ตั้งหรือบ่อเกิดของความทุกข์ได้ด้วยเช่นกัน
2. อาหารสี่ ประกอบด้วย อาหารการกิน , อาหารทางผัสสะหรือการรับรู้ เช่น อาหารตา คือการเห็นภาพสวยๆ งามๆ เป็นต้น , เจตนา (อาหารทางความคิด) และความรับรู้ทางใจ (อาหารทางใจ) ที่มีความกำหนัดไว้ด้วย “ตัณหา” คือความอยาก เป็นสาเหตุ ความลุ่มหลงในอาหารทั้งสี่นี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
3. อุปาทานขันธ์ หมายถึงขันธ์ทั้งห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ กล่าวคือ ส่วนประกอบของร่างกาย , ความรู้สึก , ความจำได้หมายรู้ , การคิดปรุงแต่ง และประสาทการรับรู้
อุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์ห้าที่มีความหมายมั่น หรือ “อุปาทาน” ว่าเป็นของสวยงามหรือน่าหลง (กามุปาทาน) เป็นความถูกต้องทางความเห็นของตัวเอง (ทิฏฐุปาทาน) เป็นความดีงาม (สีลัพพัตตุปาทาน) เป็นตนหรือของๆ ตน (อัตตวาทุปาทาน) เข้ามาข้องเกี่ยว
หรือสรุปสั้นๆ ว่า การยึดมั่นว่าเป็นฉัน ฉันเป็นเจ้าของรูปกาย ฉันเป็นผู้รู้สึก เป็นเจ้าของสัญญา เป็นผู้คิดปรุงแต่ง และเป็นผู้รับรู้ หมายถึง อุปาทานขันธ์
ความหมายมั่นไปเองเหล่านี้ล้วนเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ โดยมี “ตัณหา” คือความอยากเป็นบ่อเกิดด้วยเช่นกัน
4. ความชรา และความตาย คือความเสื่อมโทรมลงของร่างกาย และความตายจากไปของชีวิต ล้วนเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ซึ่งมี “ชาติ” เป็นสาเหตุ
5. ชาติ หมายถึง ความเกิดขึ้น การใช้ชีวิต และหมายถึงการปรากฏแห่งตัวตน การมีอยู่ของฉัน ล้วนเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ โดยมี “ภพ” เป็นสาเหตุ
6. ภพ ประกอบด้วย กามภพ หมายถึง สภาวะที่ข้องเกี่ยวด้วยกาม ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความรู้สึกทางใจ , รูปภพ คือสภาวะที่ข้องเกี่ยวด้วยรูปธรรม มวลวัตถุ และสิ่งที่จับต้องได้ทั้งหลาย โดยไม่มีความเพลิดเพลินหรือกามข้องเกี่ยว , อรูปภพ คือสภาวะที่ข้องเกี่ยวกับนามธรรม คลื่นพลังงาน และสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ซึ่งเหนือกว่ากามกับรูปธรรมทั้งหลาย โดยทั้งหมดนี้มี “อุปาทาน” เป็นบ่อเกิด
ความมีความเป็นที่เรียกว่า ภพ ล้วนเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ด้วยเช่นกัน
7. อุปาทาน ประกอบด้วย กามุปาทาน คือยึดติดในกาม ความสวยงาม ความน่าหลงใหล , ทิฏฐุปาทาน คือยึดติดในความคิดความเห็น , สีลัพพัตตุปาทาน คือยึดติดในหลักการกับความดี และ อัตตวาทุปาทาน คือยึดติดในตัวตนกับของๆ ตน โดยมี “ตัณหา” เป็นบ่อเกิด
ความยึดติดที่เรียกว่า อุปาทาน เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
8. ตัณหา หมายถึง ความอยาก แยกแยะออกเป็นอยากในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความรู้สึกทางใจ ซึ่งมี “เวทนา” เป็นบ่อเกิด ความอยากทั้งหลายล้วนเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
9. เวทนา หมายถึง ความรู้สึกทั้งหลาย แยกแยะเป็นหกอย่างเช่นเดียวกันกับตัณหา จำแนกตามการรับรู้ที่เป็นสาเหตุ เรียกว่ามี “ผัสสะ” เป็นบ่อเกิด ความรู้สึกทั้งหลายล้วนเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
10. ผัสสะ หมายถึง การรับรู้ หรือการสัมผัสระหว่างสิ่งภายนอกกับ “อายตนะ” การรับรู้นั้นเองก็เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
11. อายตนะ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งทำงานเพราะมี “นามรูป” เป็นปัจจัย ช่องทางการรับรู้เหล่านี้เองเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ด้วย
12. นามรูป คือ จิต กับ กาย ประกอบด้วย นาม คือ นามธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เช่น ความรู้สึก ความจำ เจตนา ความคิด เป็นต้น , ส่วน รูป คือ รูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เช่น ร่างกาย และธาตุทั้งหลาย เป็นต้น โดยมี “วิญญาณ” เป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น
จิต กับ กาย เหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
13. วิญญาณ คือ ประสาท และ ความสำนึกรู้ แบ่งออกเป็นหกประการ ได้แก่ วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ความรับรู้ทั้งหลาย ล้วนเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทั้งสิ้น โดยมี “สังขาร” เป็นบ่อเกิด
14. สังขาร หมายถึง การปรุงแต่ง โดยในที่นี้หมายถึง การปรุงแต่งกรรมที่สั่งสมมา ประกอบด้วยกายสังขาร วจีสังขาร และ จิตตสังขาร หมายถึงการปรุงแต่งกรรมทางกาย วาจา และใจ *(B) ที่สั่งสมมาจากกิเลสอันหมักหมม
สังขาร เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ สิ่งที่เป็นเหตุแห่งการปรุงแต่งนั้นก็คือ “อวิชชา” และ “อาสวะ” เพราะมีอวิชชาเป็นตัวเหนี่ยวนำ กับอาสวะที่หมักหมมจึงทำให้เกิดการปรุงแต่งกรรมทางกาย วาจา และใจไปในทางที่เป็นทุกข์ตามกิเลสที่สั่งสมไว้แต่ก่อนเก่า
15. อวิชชา คือ ความไม่รู้ในความเป็นจริง การไม่ยอมรับความเป็นจริง ความหลง ความไม่เข้าใจในไตรลักษณ์ และความไม่รู้ใน อริยสัจสี่ ได้แก่ ความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การพ้นทุกข์ และทางดับทุกข์ เรียกสั้นๆ ตามท่านพุทธทาสว่า “ความโง่”
อวิชชา คือตัวร้ายแห่งที่ตั้งความเป็นทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งมี “อาสวะ” เป็นสาเหตุ
16. อาสวะ คือ กิเลสที่หมักหมมจนเคยตัว ดองอยู่ในสันดาน ฝังรากในจิตใต้สำนึก อาจเรียกว่าความติดใจที่เหนียวแน่น พร้อมจะกระทำตามกิเลสใหม่อยู่เสมอ แบ่งได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ หมายถึง ติดใจในกาม คือการรับรู้ทั้งหลาย ติดใจในความเป็นไปหรือสภาวะต่างๆ เรียกว่า ภพ และติดใจกับความมัวเมาไม่อยู่กับความเป็นจริง เรียกว่า อวิชชา
อาสวะ เองก็มี “อวิชชา” เป็นบ่อเกิด เป็นเหมือนงูกินหาง ติดใจเหนียวแน่นเพราะความไม่รู้ในความเป็นจริงของโลก ยิ่งติดใจเหนียวแน่นก็ยิ่งหลงในความไม่รู้มากยิ่งขึ้นไป อาสวะจึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
ปัญหาไม่ได้อยู่สิ่งโน้นสิ่งนี้ที่ชีวิตคนทั่วไปเรียกร้อง วุ่นวาย ใฝ่หา หรือกล่าวโทษกันนักต่อนักเลย แต่สิ่งใกล้ตัวมากๆ เหล่านี้ทั้ง 16 อย่างที่เป็นปัญหา เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทั้งหลายของชีวิตทุกคน
การรู้ว่าทั้งสิบหกอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ มีมุมมองความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ต้องดูแล เชื่อว่าตนเองควรต้องศึกษาให้รู้จัก พิจารณาให้เข้าใจถึงบ่อเกิดและการหลุดพ้นจากสิบหกอย่างนี้ ก็เรียกว่าเริ่มมีมุมมองความเห็นที่เป็นคุณต่อชีวิตตัวเอง เริ่มตั้งต้นใน “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว
การมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง แล้วแก้กันที่เปลือก มันก็ทำให้เราไม่หลุดพ้นจากวงจรแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตเสียที แก้กันไม่ตรงจุด แล้วปล่อยให้ปัญหาที่แท้จริงเกิดขึ้นเพราะขาด สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง
ทั้งสิบหกอย่างข้างต้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจสี่ ในเรื่องของทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ โดยการจะพ้นทุกข์ และขจัดเหตุแห่งทุกข์เหล่านี้ได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนให้ตระหนักในไตรลักษณ์ คือลักษณะสามประการที่ทุกสิ่งในโลกและจักรวาลหนีไม่พ้น ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
อนิจจัง หมายถึง ไม่เที่ยงแท้ มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ฯ ทุกสิ่งก็เป็นเช่นนี้อยู่ธรรมดา
ทุกขัง หมายถึง พร้อมจะเสื่อมลงไป ไม่สมบูรณ์แบบ มีปัญหา หมายมั่นไว้ก็เป็นทุกข์ ฯ ทุกสิ่งก็เป็นเช่นนี้อยู่ธรรมดา
อนัตตา หมายถึง ไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจยึดถือเป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่ของตน ไม่อาจเอาตนเป็นที่ตั้ง ฯ ทุกสิ่งก็เป็นเช่นนี้อยู่ธรรมดา
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระภิกษุผู้ติดตามทั้งหลายว่า *(C)
“ รูป หรือร่างกายนี้ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ”
พระภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า “ ไม่เที่ยง ”
พระองค์ก็ทรงตรัสถามต่อว่า “ สิ่งทั้งหลายที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ? ”
พระภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า “ เป็นทุกข์ ”
พระองค์ก็ทรงตรัสถามต่อ “ สิ่งทั้งหลายที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ มีความไม่แน่นอน ควรเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเป็นตนหรือไม่ ? ถ้าไม่ยึดมั่นแล้วจะมี อัตตานุทิฏฐิ เกิดขึ้นหรือไม่ ? ”
พระภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า “ ไม่ใช่ ”
พระองค์ก็ทรงตรัสถามกับขันธ์อื่นๆ ต่อ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่…
สิ่งเหล่านี้เป็นสุข หรือเป็นทุกข์…
สิ่งเหล่านี้ ควรเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเป็นตนหรือไม่ ถ้าไม่ยึดมั่นแล้วจะมี อัตตานุทิฏฐิ เกิดขึ้นหรือไม่…
คำตอบเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่แน่นอน ไม่พึงถือเอาด้วยความเป็นตัวตน หรือ “อัตตานุทิฏฐิ”
มิว่าร่างกายก็ดี อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย ความจำความหมายมั่น การคิด และการรับรู้ทั้งหลาย รวมเรียกว่าขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ ต่างก็เป็นทุกข์ และไม่ควรเห็นเป็นตัวเป็นตนทั้งสิ้น
นับประสาอะไรกับสิ่งอื่นที่ไกลตัวยิ่งกว่า มิว่าจะเป็นวัตถุทั้งหลาย คนอื่นๆ สังคม การงาน ความรัก และทุกสิ่ง มีอะไรที่จะพ้นไปจากไตรลักษณ์
แม้แต่ความสุข ความสงบ ความสำเร็จ คุณค่า และความสามารถ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ ไม่อาจแพ้แก่ความเสื่อม
…สิ่งเหล่านี้ควรค่าแล้วหรือกับเรียกว่าความสุข
…ในเมื่อทุกสิ่งเป็นเช่นนี้แล้ว ควรแก่การยึดถือไว้เป็นตัวตนหรือของๆ ตนหรือไม่
เพราะความไม่รู้จริง มีมุมมองไม่ถูกต้อง จึงเชื่อถือไปว่า ร่างกายก็ดี ความรู้สึกก็ดี ความจำได้หมายรู้ ความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย และการรับรู้ต่างๆ เป็นความเที่ยงแท้แน่นอน เป็นความสุข เป็นตัวตนของตน
“มิจฉาทิฏฐิ” เช่นนี้ จึงก่อให้เกิดความปัญหาต่างๆ ในชีวิตตามมา เพราะทำให้เราเข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่ไม่แน่นอน โดยคิดว่ามันจะแน่นอนดั่งใจ เพราะทำให้เข้าไปพัวพันกับความทุกข์ ภาระ ความหนัก และโทษ โดยคิดว่าจะเป็นสุขที่ยั่งยืน เพราะทำให้เราหวังครอบครองหรือยึดถือเป็นตัวตน กับสิ่งที่มิอาจครอบครองหรือถือเอาเป็นตัวตนได้เลย
เมื่อไม่รู้จักท้องถนน ย่อมขับรถไปอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้จักท้องทะเล ย่อมหลงกลางคลื่นก่อนจมลงสู่เบื้องต่ำ เมื่อเข้าใจชีวิตผิดไป ย่อมใช้ชีวิตอย่างไม่เหมาะสม แล้วจมลงสู่ “อบาย” คือความเป็นไปอันเสื่อมทราม
การหลงไปกับกิเลส คือสิ่งไม่ดีทั้งหลายที่บั่นทอนจิตใจ อันเป็นผลมาจากการมองโลกที่ผิดเพี้ยน เมื่อหลงและกระทำตามกิเลสมากเข้าก็สั่งสมเป็นนิสัยของจิตเรียกว่า “อนุสัย” *(D) จนเคยชินก็เกิดโซ่ตรวนที่ผูกตนไว้กับทุกข์ โดยเรียกโซ่ตรวนนั้นว่า “สังโยชน์” ครั้นกระทำตามกิเลสต่างๆ ที่เคยตัวมากเข้าก็เกิด “อาสวะ” คือความหมักหมมหรือการสั่งสมของกิเลสมากมาย จนมันล้นออกมานำไปสู่การก่อ “กรรม” จนเป็นทุกข์
ดังในข้อสุดท้ายของคำสอนจากพระสารีบุตรข้างต้น อาสวะ เป็นผลทำให้เกิดอวิชชา ทำให้จิตโง่ลง เห็นโลกไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อจิตโง่แล้วก็ทำให้ อาสวะ ยิ่งพอกพูนมากขึ้นไปในความเคยตัวของจิตนั้น เพราะจากอวิชชาก็เป็นผลทำให้เกิดกิเลสแล้วก่อกรรมตามกิเลสแบบเดิมๆ กลายมาเป็น อาสวะ วนเวียนไปไม่จบสิ้น
ประหนึ่งคนที่เดินหลงทาง โดยเฉพาะหลงป่า เมื่อไม่รู้ว่าหลงก็ยิ่งถลำลึกในเส้นทางเดิมนั้นเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ตัวแล้วเปลี่ยนเส้นทางใหม่ หรือย้อนกลับมาจุดแรกที่เลือกเส้นทางผิด เหมือนกับที่เราทบทวนแต่ละข้ออันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์จนมาถึงจุดกำเนิดแห่งความทุกข์ทั้งหลายที่เรียกว่า อวิชชา คือความไม่รู้ในความเป็นจริงของชีวิตและไม่ยอมรับความเป็นจริง ซึ่งก็หมายรวมถึงการขาด “สัมมาทิฏฐิ” ด้วย
ความเห็นที่ถูกต้อง หรือสัมมาทิฏฐิ แบ่งเป็นสองระดับ *(G)
ระดับแรก เป็นเรื่องทางโลก คือมุมมองความเชื่อทั้งหลายที่เป็นคุณต่อการใช้ชีวิต การรู้จักบาปบุญคุณโทษ กฏแห่งกรรม พระคุณพ่อแม่ การเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นต้น เป็นความเห็นที่มีประโยชน์ แต่ยังเจือไปด้วยกิเลส ประกอบด้วยอาสวะ ยังไม่ทำให้อาสวะเสื่อมคลาย เรียกว่า “สาสวะ”
ระดับสอง เป็นเรื่องทางธรรม คือมุมมองความเชื่อทั้งหลายที่เป็นคุณต่อการใช้ชีวิตด้วย เป็นคุณต่อการปฏิบัติธรรมด้วย เป็นไปในทางที่เข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง และไม่เจือไปด้วยกิเลส ไม่ประกอบด้วยอาสวะ และทำให้อาสวะเสื่อมคลาย เรียกว่า “อนาสวะ”
การพัฒนาความเห็นที่ถูกต้อง ในขณะที่ยังมีชีวิตเป็นปุถุชนทั่วไป เราก็ต้องพัฒนาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมให้ดี ดูแลทั้งสองด้าน แต่เริ่มจากการปรับมุมมองระดับแรกก่อน มองโลกอย่างไรไม่ให้ก่อทุกข์ในการใช้ชีวิต รู้จักเปลี่ยนมุมมองให้เป็นประโยชน์ในหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ สุขภาพและมิติต่างๆ ของชีวิต เรียกว่ามองโลกให้เป็นสุขก็ได้
แม้พัฒนาสัมมาทิฏฐิที่ยังเป็น สาสวะ ก่อน แต่ก็อย่ายึดมั่นมันเกินไป ให้ตระหนักว่ามุมมองทั้งหลายทางโลกก็เป็น อนัจจัง ทุกขัง และอนัตตา เหมือนกัน สิ่งที่เราคิดเชื่อหรือยึดถือว่าคือความจริงและสิ่งสมควร มันก็ไม่ได้เที่ยงแท้ ยึดมั่นมากไปก็เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตนของตน เป็นแค่เครื่องมือที่เราใช้เพื่อประโยชน์ชั่วคราว
บางคนไม่เข้าใจว่ามุมมองทางโลกทั้งหลายมันเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ก็ไปยึดถือจนเกินไปคิดเอาเองว่ามุมมองนั้นคือตัวฉัน ฉันจะต้องมองโลกแบบนี้ เชื่อแบบนี้เท่านั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครอย่ามาทำลาย คนอื่นต้องยอมรับหรือต้องเชื่อตาม
หมายมั่นกับสิ่งที่ไม่ควรหมายมั่น มันก็เป็นทุกขัง… มีทุกข์มาขังนองไว้ในใจ หรือขังตัวเองไว้ในมุมมองแคบๆ แล้วก็พาลโทษคนโน้นคนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ทั้งๆ ที่มุมมองที่ตนใช้นั่นแล เป็นทุกขัง
ขณะที่เราใช้มุมมองทางโลกเพื่อใช้ชีวิตบนโลกเช่นคนธรรมดา เราก็สามารถฝึกมองโลกด้วย “สายตาของพระพุทธเจ้า” คือเจริญสัมมาทิฏฐิอยู่เนืองๆ ดูความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การพ้นทุกข์ และทางดับทุกข์ ในสิ่งทั้งหลายที่กระทบผัสสะหรือเกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง จนเป็นปกตินิสัย
อะไรๆ ที่มันเข้ามาจนรู้สึกคล้อย อยาก หรือยึดมั่น เราก็มองมันด้วย “สายตาของพระพุทธเจ้า” เห็นเป็นเพียงอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา มิมีอื่น จนความคล้อย ความอยาก หรือความยึดมันจางหาย
ระลึกถึงความเป็นจริงของโลกและการแลเห็นความเป็นจริงทั้งหลายที่เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” อยู่บ่อยๆ ด้วยสติ และหลีกเลี่ยงที่จะมองสิ่งใดๆ ด้วยความถือมั่น เราก็จะมี “ดวงตาแห่งพุทธะ” อยู่กับกายและใจแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับผู้ที่ยังขาดสัมมาทิฏฐิ และการรู้เห็นที่ทำให้ขจัดซึ่งกิเลสหมักหมมจิตทั้งหลาย ไว้ดังนี้ *(E)
1. คนธรรมดาทั่วไปในโลกนี้บ้างก็เห็นว่า… รูปเป็นตัวตน ตนมีรูป มีรูปในตน หรือมีตนในรูป
2. บ้างก็เห็นว่า… เวทนาเป็นตัวตน ตนมีเวทนา มีเวทนาในตน หรือมีตนในเวทนา
3. บ้างก็เห็นว่า… สัญญาเป็นตัวตน ตนมีสัญญา มีสัญญาในตน หรือมีตนในสัญญา
4. บ้างก็เห็นว่า… สังขารเป็นตัวตน ตนมีสังขาร มีสังขารในตน หรือมีตนในสังขาร
5. บ้างก็เห็นว่า… วิญญาณเป็นตัวตน ตนมีวิญญาณ มีวิญญาณในตน หรือมีตนในวิญญาณ
คำว่า “ตน” หมายถึง ยึดมั่นในความเป็นตัวฉัน ยึดมั่นในความเป็นอัตตา เและยึดติดในนิยามป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือสมมติต่างๆ ทั้งหลาย
ความเห็นผิดทั้งห้าข้อนี้ เรียกว่า “สักกายทิฏฐิ” คือความเห็นว่าเป็นตัวตน ซึ่งเป็นหนึ่งในโซ่ตรวน สังโยชน์
สาเหตุของการเห็นผิดเหล่านี้ก็ล้วนเกิดขึ้นเพราะ “สังขาร” คือการปรุงแต่งจากอำนาจของ “ตัณหา” คือความอยากนั่นเอง
พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า ตัณหา เกิดมาจากการ “เสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว”
ข้อความนี้อ่านแรกๆ อาจจะรู้สึกมึนงงสงสัย แต่หากยกไปเทียบตามลำดับที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ข้างต้น จะเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ตัณหา มาจาก เวทนา ผัสสะ อายตนะ …อวิชชา คือเกิดขึ้นเพราะรับรู้อารมณ์จากสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่างไม่เข้าใจความเป็นจริง
คำว่า ถูกต้องแล้ว หมายถึง มีสิ่งภายนอกมากระทบ “ถูก” (โดน) และ “ต้อง” (กระทบ) กับอายตนะ รวมทั้งหมดเรียกว่าเกิด ผัสสะ
เพราะการรับรู้โลกโดยขาดสติปัญญา โดนอวิชชาครอบงำ จึงเกิดเป็นความหลงผิดต่อความเป็นจริง ทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ขึ้นจนกลายเป็นความทุกข์
…หากรับรู้โลกอย่างถูกต้องตั้งแต่ตอนแรก ก็มิมีเหตุอันใดให้ทุกข์เกิดขึ้นมา
…เราอย่าโทษใครเลยที่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะหากตัวเราเองมองโลกอย่างเป็น สัมมาทิฏฐิ ใครหรืออะไรก็ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้
หรืออย่างน้อยที่สุดแล้ว แม้ยังเห็นโลกไม่ถูกต้องเต็มร้อย แต่ไม่เอาความอยากเข้าไปพัวพันกับสิ่งใดๆ ที่เข้ามาให้รับรู้ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
…หากมีมุมมองที่แย่ ไม่เข้าใจความเป็นจริง อะไรๆ ก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ตลอด
นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงอธิบายผู้ที่ยังมีมุมมองไม่ถูกต้องเพิ่มเติมไว้ว่า *(F)
6. คนธรรมดาทั่วไปในโลกนี้บ้างก็เห็นว่า… ตัวเองกับโลก เป็นตัวตนแยกจากกัน เมื่อตายจากโลกไปแล้วก็จะยังคงอยู่เที่ยงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ กลายเป็นชีวิตนิรันดร์หรือวิญญาณดำรงอยู่ต่อไป
เป็นผู้มีความเชื่อในความเที่ยง คงที่ เป็นนิรันดร์ ยังมีความเห็นที่สุดโต่ง
7. บ้างก็เห็นว่า… ตายแล้วก็จบสิ้นลง ไม่มีอะไรเหลือ ว่างเปล่า
หรือเชื่อว่า ตัวเราไม่ควรมีอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ควรมี ในเมื่อตัวเราไม่มีอยู่ก็ไม่ควรมีอะไร ไม่ควรทำอะไรทั้งสิ้น เป็นความเห็นที่สุดโต่งเช่นกัน
8. บ้างก็ไม่เห็นสุดโต่งไปตามข้างต้น… แต่มีความลังเลสงสัยในหลักธรรมคำสอน และความเป็นจริงต่างๆ คือยังมีความเห็นที่ยังไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปมา ไม่ฝักใฝ่อะไรเลย
การเชื่อว่า “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” อย่างที่สอนกันมากในคอร์สเรียนร่วมสมัย ก็ถือว่าเป็นความเห็นที่สุดโต่ง เป็นความเชื่อที่ยังลังเลไม่คงที่ ยังไม่ตรงตามความเป็นจริง สอดคล้องกับข้อที่แปดนี้ด้วยเช่นกัน
ข้อหกและเจ็ด เป็น “อันตคาหิกทิฏฐิ” คือความเชื่อที่สุดโต่ง ไม่ใช่มุมมองที่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ *(D)
สามข้อที่เพิ่มเติมต่างก็มีสาเหตุเดียวกันกับความเห็นผิดก่อนหน้า คือมีการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นจากอำนาจของความอยาก ที่มาจากการรับรู้โลกอย่างขาดสติเช่นเดียวกัน
ทั้งแปดข้อนี้ต่างก็เป็นความเห็นที่นำมาสู่ อาสวะ หากจะลดละกิเลสที่หมักหมมได้ก็ต้องแก้ไขความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
เห็นกายจิตเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ และมิใช่ตัวตน
เห็นความเชื่อผิดๆ ที่เกิดขึ้น และกิเลสทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งมาตามเหตุปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ และมิใช่ตัวตน ด้วยเช่นกัน
มองโลกอย่างไม่โง่ เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยดวงตาแห่งพุทธะ มิใช่มองดูด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือความอยาก กับความยึดมั่น ทุกข์ทางใจก็ไม่มี ทุกข์ทางกายก็เหลือเพียงธรรมดา
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากรู้เห็นเช่นนี้เนืองๆ แล้ว อาสวะ ก็จะสิ้นไปตามลำดับ
เพราะเหตุให้เกิดกิเลสสิ้นไปแล้ว น้อยลงไปแล้ว การทำตามความเคยชินเดิมย่อมเจือจางจนหายไป ความหมักหมมที่มีมาก็ลดน้อยลงเอง จนกระทั่งหายไป เหมือนไม่มีน้ำใหม่หยดมาลงตุ่มอีกแล้ว น้ำที่ค้างเหลือแต่ก่อนก็แห้งหายตามธรรมชาติ
การจะทำความเห็นให้ตรง หรือถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องอาศัยการฝึกอบรมขัดเกลาปัญญา ด้วยความเพียร และ สติ ทั้งสองอย่างนี้ขาดมิได้เลย
ความเพียรนี้ในบาลีเรียกว่า วายามะ ถ้าเพียรละมิจฉาทิฏฐิก็จะเรียกว่า “สัมมาวายามะ” เป็นความเพียรที่ถูกต้อง ซึ่งสติก็เช่นเดียวกัน หากมีสติละมิจฉาทิฏฐิก็จะเรียกว่า “สัมมาสติ” คือสติที่ถูกต้อง *(G)
ความเพียรที่ถูกต้อง กับ สติที่ถูกต้อง ทั้งสองข้อนี้ก็จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความตอนอื่นในชุดเดียวกันนี้
นอกจากสองอย่างนี้แล้ว ยังมีอีกห้าสิ่งที่ช่วยทำให้เรามีมุมมองที่ถูกต้องในธรรม ตามคำแนะนำของพระสารีบุตรอีกเช่นกัน โดยครั้งนี้เป็นการสนทนาธรรมกับ มหาโกฏฐิกะ ซึ่งถามพระสารีบุตรว่ามีอะไรบ้างที่จะช่วยอนุเคราะห์หรือเกื้อหนุนให้เกิด สัมมาทิฏฐิ
ห้าข้อที่ท่านหยิบยกขึ้นมาตอบ ได้แก่ *(H)
1. ศีล คือการสำรวมระวังและรักษากายใจให้อยู่บนครรลองความเหมาะสม ตามกติกาทางสังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิต และบริบทที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง โดยไม่ให้เป็นไปเพื่อเกิดอกุศลหรือการทำชั่วที่เบียดเบียนตนหรือคนอื่น
หาก สัมมาทิฏฐิ เป็นเหมือนการมีทัศนวิสัยที่ถูกต้องในการขับรถ ผู้ขาดศีลก็เป็นเหมือนผู้ไม่รู้รักษารถให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ดูแลกระจกหน้า กระจกข้าง กระจกหลัง และไฟรถให้ใสสะอาดหรืออยู่ในสภาพที่ใช้ได้ การจะขับรถออกไปอย่างมีวิสัยทัศน์ที่แจ่มแจ้งจึงเป็นเรื่องยาก
2. สุตะ คือการรับฟังผู้อื่น ฝึกเป็นนักฟังที่ดี เพื่อเปิดกว้างปัญญา มองมุมต่าง ขยายความเข้าใจ ฟังเพื่อนำมาใคร่ครวญให้เกิดความรู้เท่าทัน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เกิดปัญญา ผู้ที่จะมี สัมมาทิฏฐิ ได้ต้องเป็นผู้รู้จักฟังคนอื่นเป็น มิใช่นึกคิดเห็นแต่ในหลักการของตัวเองหรือเอาแต่พูดฝ่ายเดียวเท่านั้น
การฟัง เป็นเหมือนการดูสัญญาณจราจร ป้ายบอกทาง และเสียงแตรจากรถคันอื่น ซึ่งช่วยเตือนวิสัยทัศน์ในการขับรถให้ถูกต้อง หากไม่สนใจสิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็อาจไปไม่ถึงจุดหมายของชีวิต เพราะหลงไปกับ มิจจฉาทิฏฐิ ในใจตนไปเสียก่อน
3. สากัจฉา คือการสนทนา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น การเสวนา หรือการสนทนาธรรม โดยในที่นี้เป็นการสนทนาที่ช่วยเปิดดวงตาปัญญาให้แก่กัน ย่อมเป็นการคุยด้วยสติปัญญา มิใช่การคุยฟุ้งซ่านไร้สาระทั่วไป
การพูดแชร์มุมมองความเห็นต่อคนอื่นก็เป็นการเรียบเรียงความเข้าใจของตัวเองให้เกิดความชัดเจน การสนทนาอย่างลึกซึ้งต่อกันก็ช่วยต่อยอดความรู้และปัญญาของทั้งสองฝ่ายให้งอกงาม และการรู้จักเข้าหา ตั้งคำถาม หรือชวนผู้มีธรรมอรรถาธิบายความรู้ให้คำแนะนำก็ย่อมช่วยให้เรามี สัมมาทิฏฐิ มากขึ้น
หากเปรียบกับการขับรถก็เป็นเหมือนการถามทางผู้อื่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทาง การใช้สัญญาณไฟเลี้ยว หรือสัญญาณไฟฉุกเฉิน ต่างช่วยกันเติมเต็มทัศนวิสัยในการขับขี่ ช่วยให้ท้องถนนเรียบร้อย และทัศนวิสัยของผู้ใช้เส้นทางก็จะราบรื่นด้วยเช่นกัน
4. สมถะ คือการกระทำให้จิตใจสงบ ระงับจากกิเลสที่ทำให้วุ่นวายหรือเศร้าหมอง หากใจไม่สงบการจะแลเห็นความเป็นจริงก็ทำได้ยาก เพราะมีกิเลสอย่าง “นิวรณ์” ทำให้ฟุ้งซ่าน โลเล หรือขุ่นมัว ความเห็นก็ย่อมผิดเพี้ยนไปโดยง่าย
ควรฝึกใจตัวองให้สงัดและสำรวม ไม่คลุกคลีกับความวุ่นวายจากภายนอกมากเกินไป ด้วยการฝึกเจริญสติ ทำสมาธิภาวนา หรือปลีกตัวเองจากสิ่งแวดล้อมที่วุ่นวาย ความสงบของจิตใจจะช่วยให้ความเห็นเที่ยงตรงมากขึ้น เหมือนกับตอนที่เรากำลังโกรธ กังวลใจ หรือสับสน ตอนนั้นการจะคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ มันก็เป็นไปในทางลบร้ายเสียมาก จะคิดให้ดีหรือถูกต้องก็คิดไม่ออก จนเมื่อใจสงบลงแล้ว จึงจะเกิดปัญญา
สมถะ เหมือนกับการขับรถโดยไม่มีความวุ่นวายหรือสิ่งที่ชวนเสียสมาธิ ไม่ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างไปด้วยในขณะที่ขับรถอยู่ ซึ่งเปรียบกับจิตใจเวลามีกิเลสเข้ามา มันจะพยายามทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกันเสมอ
5. วิปัสสนา คือการฝึกปัญญาให้เห็นแจ้งแก่ความจริงทั้งหลาย ด้วยการมองสิ่งต่างๆ ให้เห็นเป็นการเรียนรู้ , พิจารณาสิ่งต่างๆ สักแต่ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน , พิจารณาให้ถึงแก่นของปัญหาและการแก้ไข , การมองความเป็นจริงแห่งสิ่งทั้งหลายโดยไม่หลงกับความอยากหรือความยึดติด ฯ การฝึกอบรมปัญญาก็จะทำให้เกิด สัมมาทิฏฐิ มากขึ้นตามลำดับ
ข้อนี้เป็นเหมือนไฟหน้ารถ การจะตัดผ่านหมอกหรือความมืดมนของเส้นทางเบื้องหน้า เราต้องอาศัยกำลังของหลอดไฟหน้ารถ และต้องเป็นประเภทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นเดียวกันกับการที่เราต้องอาศัยกำลังของปัญญาที่มากเพียงพอ และต้องเป็นประเภทที่เหมาะสมกับการแก้ทุกข์นั้นๆ
… ทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา จะกล่าวถึงในบทความว่าด้วย “สัมมาสมาธิ” ในโอกาสต่อไป
ทั้งห้าอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกกันได้อย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยการรักษากายใจให้อยู่ความเหมาะสม ฟังผู้อื่นให้เกิดการเรียนรู้ หมั่นสนทนากับผู้รู้ในเรื่องสำคัญ ฝึกใจให้สงบมีสติ และฝึกอบรมปัญญาพิจารณาความเป็นจริงจากเรื่องต่างๆ เพียงเท่านี้เราก็จะมีความเห็นที่เป็นคุณ และเกิดมุมมองที่ถูกต้องต่อชีวิตมากขึ้นเอง ด้วยสิ่งใกล้ๆ ตัวเหล่านี้
… ธรรมะไม่ได้ไกลตัวเลย
นอกจากนี้เอง ยังมีอีกสองข้อที่พระสารีบุตรชี้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิด สัมมาทิฏฐิ ได้แก่
6. ปรโตโฆสะ คือการเรียนรู้จากผู้อื่น รับการอบรมจากคนอื่น โดยเฉพาะจากกัลยาณมิตร แง่หนึ่งก็คือการมีครูอาจารย์ การฟังคำเตือนจากคนอื่น เปิดรับการถูกวิจารณ์ การดูคนอื่นเป็นแบบอย่างในทางที่ดี และการอาศัยศรัทธา หมายถึงความวางใจ หรือเชื่อใจ เพื่อเปิดใจตัวเองให้พร้อมน้อมรับความเป็นจริง เป็นการใช้สิ่งนอกตัวหรือศรัทธาเพื่อจูงใจให้เกิดมุมมองความเห็นที่ถูกต้อง
7. โยนิโสมนสิการ คือการใคร่ครวญด้วยใจอย่างแยบคายเป็นการน้อมนำมาคิดพิจารณาอย่างมีสติ สืบสวนต้นสายปลายเหตุจนเกิดความเข้าใจที่แยบยล และระลึกทบทวนเชื่อมโยงกับใจตนเอง หรือความเป็นจริงแห่งชีวิตตนได้ หมายถึง มิได้คิดออกไปไกลตัวจนเป็นในทางหลักการหรือตรรกะอย่างเดียว แต่ยังพิจารณาจนเกิดความรู้เท่าทันตนเองด้วย
ข้อหกกับเจ็ด เป็นสองเรื่องที่ต้องควบคู่ไปด้วยกัน มีผู้สนับสนุนหรือสั่งสอนก็ดี แต่ต้องสอนตัวเองด้วย พึ่งเพียงปัจจัยภายนอกอย่างเดียวมิได้ ต้องอาศัยการทบทวนตนเองเป็นสำคัญ แต่จะเน้นการทบทวนตนเองแล้วไม่ฟังคำเตือนของผู้อื่นเลยก็อาจหลงไปกับ “ทิฐิ” หรือความเห็นผิดได้ ต้องมีกัลยาณมิตรช่วยคาน
หากพิจารณาทุกๆ ข้อจะเห็นว่า การจะมีมุมมองความเห็นที่ถูกต้อง มิติอื่นๆ ของชีวิตก็มีส่วนเสริมที่สำคัญ มิว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต การสื่อสาร การฝึกใจ ฯ ซึ่งก็คือข้ออื่นๆ ในมรรค์มีองค์ 8 นั่นเอง
การจะมี สัมมาทิฏฐิ ได้ ต้องอาศัย สัมมาในข้ออื่นๆ บนเส้นทางแปดสายที่มนุษย์ควรก้าวตาม
การคิดที่ถูกต้อง หรือ “สัมมาสังกัปปะ” ก็จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องด้วย ในทางกลับกันความเชื่อหรือความเห็นที่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดความคิดที่เหมาะสมเหมือนกัน
ดังนั้นแล้ว เราจะมาพิจารณาเรื่องการคิดที่เหมาะสมอันเป็นคุณต่อทางโลกและทางธรรมในตอนต่อไป
.
.
*** ติดตามตอนต่อไปในเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ***
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 66
.
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/
.
.
[ อ้างอิง ]
*(A) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ [๑๑๑]
*(B) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕๐๙]
*(C) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๗. อัตตานุทิฏฐิสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งอัตตานุทิฏฐิ [๓๕๙]
*(D) บทความ “6 อ. ที่แอบทำให้จิต…โง่ (ตอนแรก)” คอลัมน์ ไกด์โลกจิต บทที่ 63
*(E) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๙. ปาลิเลยยสูตร ว่าด้วยการรู้เห็นที่ทำให้สิ้นอาสวะ [๑๗๔]
*(F) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๙. ปาลิเลยยสูตร ว่าด้วยการรู้เห็นที่ทำให้สิ้นอาสวะ [๑๗๙]
*(G) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒๕๘]
*(H) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔๙๗]