อย่าควบคุมลูกมากเกินไป : กรณีศึกษา แคเรน คาร์เพนเทอร์ และงานวิจัยอื่น

 

 

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๓ เป็นวันที่โลกต้องสูญเสียนักร้องหญิงซึ่งมีน้ำเสียงดั่งนางฟ้า ผู้ฝากผลงานเพลงไพเราะมากมาย เช่น Close to you , Top of the world นาม “แคเรน คาร์เพนเทอร์” เสียชีวิตแม้อายุเพียง ๓๒ ปี เธอจากไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลว สืบเนื่องมาจากโรคกลัวอ้วน แต่สาเหตุใดที่ผลักดันให้เธอเป็นโรคเช่นนี้ และมีแนวโน้มมาตั้งแต่วัยเด็ก

.
ความสัมพันธ์ระหว่างแคเรนกับครอบครัว ถูกอธิบายว่า …ซับซ้อน… ผู้เป็นแม่คาดหวังให้ความสามารถทางดนตรีของพี่ชาย : ริชาร์ด คาร์เพนเทอร์ ประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า และมีชื่อเสียง ซึ่งพาให้เธอต้องสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย แต่ไม่มีใครเตรียมตัวให้แคเรนรับมือกับความสำเร็จเหล่านั้น ว่าจะนำมาสู่ความเครียด และสิ่งใดบ้าง เช่นเดียวกันกับเด็กอีกหลายคนที่ถูกผลักดันและกดดันสู่ความเป็นเลิศ
.
ทั้งโดยลักษณะนิสัยและการเลี้ยงดู ทำให้เธอมีลักษณะเป็นคนที่ทำตามความคาดหวังจากผู้อื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ โดยปฏิเสธความต้องการของตนเอง
ซึ่งหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ ได้ระบุหลังจากเธอเสียชีวิตว่า สองสิ่งในโลกที่มีค่าสำหรับแคเรน คือเสียงของเธอและความรักจากแม่ โดยทั้งสองเป็นสิ่งพิเศษที่พี่ชายได้ครอบครอง
.
แรนดี แอล. ชมิดต์ ผู้เขียนหนังสือ “Little Girl Blue: The Life of Karen Carpenter” ชี้ถึงปัญหาด้านสภาพอารมณ์เป็นสาเหตุสำคัญที่พัฒนาไปสู่โรคกลัวอ้วนของแคเรน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ รวมทั้งเพื่อนและคนรู้จักครอบครัวคาร์เพนเทอร์ กว่าร้อยคน แรนดีได้ทำให้เห็นภาพของครอบครัวที่ปกครองด้วยแม่ซึ่งเคร่งครัดเรื่องภาพลักษณ์ต่อสังคม ขณะที่แม่มีบุคลิกไม่แสดงความรู้สึกและต้องการควบคุมเรื่องในบ้าน เธอได้รับความรักจากแฟนคลับนับล้านแต่ไม่อาจได้รับจากแม่ ซึ่งขาดความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งความรัก และทั้งสองคือแม่กับพี่ชายต่างมีแนวโน้มของท่าทีควบคุมเธอมากเกินไป
.
เมื่อครั้งที่แคเรนเข้ารับการบำบัดจาก สตีเวน เลเวนครอน นักจิตบำบัด ซึ่งมีความคิดเห็นว่าโรคกลัวอ้วนของแคเรนน่าจะมีสาเหตุมาจากครอบครัว จึงเชิญทั้งครอบครัวมาคุยกันและร้องขอให้สมาชิกคนอื่นๆ บอกรักเธอ
.
แอกเนส ผู้เป็นแม่ไม่ยอมทำตาม ส่วนริชาร์ด พี่ชายก็โมโหมองว่าการรักษาแบบนี้ไม่มีประโยชน์ และตำหนิแคเรน ในการสัมภาษณ์กับสารคดีโทรทัศน์ ริชาร์ดกล่าวโทษว่าที่แคเรนเสียชีวิตเป็นความผิดพลาดของแพทย์ แม้อาการของเธอนั้นจะแสดงออกมานานแล้วก็ตาม
.
ในช่วงที่เธอมีชีวิตอยู่นั้นทางครอบครัวยืนกรานปฏิเสธปัญหาด้านภาวะอารมณ์ของแคเรน และบอกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทางพวกเขาจัดการเองได้ แม้ เชอร์วิน บาสห์ ผู้จัดการจะพยายามสื่อสารกับครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักของแคเรนแล้วก็ตาม พวกเขาก็ยังปิดกั้นความช่วยเหลือภายนอก และมองว่านักจิตบำบัดมีไว้สำหรับคนบ้า
.
แม้เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง แต่แคเรนมีความฝันเพียงได้มีครอบครัวและลูกๆ เท่านั้น จุดนี้อาจเป็นความพยายามเติมเต็มสิ่งที่หัวใจเธอขาดหายไป แต่เมื่อโอกาสนั้นใกล้มาถึงก็ต้องผิดหวังเมื่อผู้ชายที่เธอหวังแต่งงาน : โทมัส เจมส์ เบอร์ริส ได้ปิดบังความจริงว่าเขาไม่อาจมีลูกได้จนขอแต่งงานไปแล้ว ซ้ำร้าย ผู้เป็นแม่ไม่ยอมให้เธอยกเลิกงานแต่ง และพี่ชายก็คอยกำกับขณะเธออยู่ในพิธีงานแต่ง แม้ตอนสัมภาษณ์กับสื่อ เธอก็ไม่อาจแสดงความรู้สึกที่แท้จริงได้
.
แคเรนต้องอยู่ในเงาของพี่ชายและผู้เป็นแม่มาโดยตลอด แม้ในการแสดงเธอจะยืนอยู่ข้างหน้าและเป็นตัวเอกก็ตาม ช่วงที่อาการโรคกลัวอ้วนเลวร้ายลงจนร่างกายเธอไม่สามารถเดินทางข้ามรัฐเพื่ออัดเทปได้ ต้องพักอยู่กับครอบครัว ฟิล ราโมน โปรดิวเซอร์จึงต้องเดินทางมาเองและพบว่า บรรยากาศในบ้านเหมือนกรมทหาร ซึ่งสมาชิกคนอื่นๆ ต่างใช้งานแคเรนเหมือนพลทหาร แม้อยู่ในช่วงสภาพร่างกายไม่ค่อยดีก็ตาม
.
ขณะเดียวกันริชาร์ด พี่ชายก็ต้องบำบัดอาการติดยานอนหลับของตนเองในตอนนั้น จึงไม่สามารถทำงานดนตรีร่วมกันได้ เมื่อเธอได้พักฟื้นจนอาการดีขึ้นเล็กน้อย จึงตัดสินใจทดลองทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองในดนตรีสไตล์ที่แตกต่างจากเดิม โดยไม่มีพี่ชายเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนผลงานเพลงที่ผ่านมา
.
เธอบอกกับพี่ชายว่าเธอไม่อยากให้เสียเวลาไปอย่างไร้ประโยชน์ขณะที่รอพี่ชายบำบัดเสร็จ ซึ่งริชาร์ดได้ตอบกลับว่าทำแบบนี้เป็นการทรยศหักหลังต่อเขา ผลงานอัลบั้มเดี่ยวชิ้นนี้ถูกระงับ
.
๓๖ ชั่วโมงก่อนเธอเสียชีวิต เธอได้โทรศัพท์พูดคุยกับโปรดิวเซอร์ผู้ร่วมทำอัลบั้มเดี่ยวของเธอ ถามว่า เพลงเหล่านี้มันแย่มากเลยหรือ เธอทำอะไรผิดพลาดไป …ดูเหมือนว่าความสุขสุดท้ายที่เธอมีและหวังสร้างขึ้นด้วยตนเองจะได้จบสิ้นลงไปแล้ว ซึ่งในที่สุดผลงานเหล่านี้ก็ได้เผยแพร่หลังจากเธอเสียชีวิตไปแล้วกว่า ๑๓ ปีตามคำเรียกร้องจากแฟนเพลง หลังจากถูกเก็บเงียบโดยพี่ชาย
.
จากที่ผู้เขียนได้ลองฟังเพลงในอัลบั้มเดี่ยว พบว่าเพลงเหล่านั้นมีน้ำเสียงของความสุข ชีวิตชีวา และความหวัง ซึ่งเฟรนดา แฟรงคลิน เพื่อนสนิทของแคเรนกล่าว เมื่ออัลบั้มเดี่ยวของเธอได้เผยแพร่สู่สังคมว่า นี่ไม่ใช่เพียงอัลบั้มเพลง แต่เป็นคำประกาศปลดแอกเธอจากการเป็นทาส
.
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ระบุว่า ผู้ป่วยโรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) มักเป็นวัยรุ่นที่เป็น เด็กดี เด็กตัวอย่าง ของครอบครัว มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์แบบ ย้ำคิดย้ำทำ ขาดทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม มีความเป็นตัวของตัวเอง มีปัญหาความขัดแย้งในจิตใจระหว่างการเป็นตัวของตัวเองกับการทำตามผู้อื่น รู้สึกไม่มีค่า มักทำตามความคาดหวังของผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ
.
เมื่อชีวิตถูกครอบงำและควบคุมเสียหมดสิ้น คนผู้นั้นย่อมหาหนทางชดเชยความรู้สึกไร้อำนาจนั้นด้วยการครอบงำและควบคุมสิ่งที่เขาสามารถทำได้ แม้สิ่งที่ว่านั้นจะทำร้ายตนเองหรือคนรอบข้างก็ตาม
.
ในกรณีของคาเรนคือการครอบงำความต้องการของร่างกาย ควบคุมบังคับร่างกาย เพื่อชดเชยความรู้สึกบกพร่องในตัวเอง การควบคุมน้ำหนักและลดลงมาปริมาณมากได้ เป็นครั้งแรกในชีวิตของแคเรนที่เธอได้รู้สึกถึงอำนาจที่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ เพราะครอบครัวของแคเรนเป็นคนควบคุมและตัดสินใจแทนเธอในทุกเรื่อง ในความคิดของแคเรน การควบคุมน้ำหนักตัวของเธอคงจะเป็นเรื่องเดียวเท่านั้นที่เธอสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง
.
จากการศึกษาวิจัยระบุว่า ความเป็นคนใส่ใจความสมบูรณ์แบบของพ่อแม่ (perfectionism) และการควบคุมลูกมากเกินไป มีผลนำไปสู่อาการโรควิตกกังวลในเด็ก และตัวพ่อแม่เองอีกด้วย
.
การพยายามควบคุมลูกมากเกินไปยังส่งผลต่อชีวิตและผลกระทบต่อจิตใจระยะยาวของลูก จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งติดตามศึกษากลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งตั้งแต่ตอนเกิดเมื่อช่วงปี ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นต้นมา โดยบุคคลในกลุ่มที่มีพ่อแม่เข้าข่ายลักษณะการควบคุมลูกมากเกินไป มีคะแนนน้อยในเรื่องความสุขในชีวิตและการเป็นอยู่ที่ดี ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเรื่อยมาจนถึงอายุราว ๖๐ ปี อาการนั้นยังคงอยู่ในพวกเขา
.
ผลการศึกษาของ Center for Forensic Psychiatry สหรัฐอเมริกา ได้พบว่า เด็กและวัยรุ่นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับฆาตกรรม มักมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรง การควบคุมและครอบงำจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง
.
การศึกษาเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๖ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Child and Family Studies ระบุว่า นักเรียนนักศึกษาที่ถูกผู้ปกครองดูแลแบบไม่ปล่อย หรือที่เรียกว่าเป็นพ่อแม่แบบ เฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parenting) อาจมีความเสี่ยงต่อความรู้สึกว่าตนยังขาดบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเสมอๆ
.
การพยายามควบคุมลูกมากเกินไป เป็นพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว การควบคุมการตัดสินใจเด็ดขาด ทำให้ลูกไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง และการทำให้ลูกติดการพึ่งพาตนเกินไป
.
เด็กที่เติบโตจากการเลี้ยงดูเช่นนี้ย่อมมีแนวโน้มเป็นคนครอบงำบังคับคนอื่น ในหลายกรณีเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว คนรัก หรือครอบครัวของตนเอง หรือในกรณีที่ไม่สามารถครอบงำคนอื่นได้เลยก็จะมีแนวโน้มเข้าหาคนที่ครอบงำตัวเองได้ หรือบีบบังคับตัวเองในทางใดทางหนึ่งจนเกิดผลเสียต่อร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิต
.
จิตใจของเด็กนั้นจะซึมซับท่าทีในการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ในฐานะแบบอย่างของท่าทีในความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้คนรอบข้าง และระหว่างตัวเขากับตนเอง กล่าวคือผู้เป็นพ่อแม่มีท่าทีแสดงออกกับลูกอย่างไร ลูกก็จะจดจำท่าเหล่านี้นำมาใช้กับตัวเองและผู้คนอื่นต่อไป
.
ในสังคมเราอาจจะต้องมีเด็กที่เติบโตขึ้นอย่างแคเรนอีกมากที่พยายามชดเชยความรู้สึกขาดรักด้วยสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดไลค์ในสื่อโซเชียล การทำตามกระแสแฟชั่น ความก้าวร้าวต่อชีวิตอื่น การพยายามปรับเปลี่ยนร่างกายอย่างฝืนธรรมชาติ
.
หากพ่อแม่ไม่อาจแสดงออกซึ่งความรักกับลูกได้ สิ่งที่จะติดตัวลูกต่อไปคือความไม่แน่ใจว่าความรักต่อตนเองนั้นเป็นอย่างไร จะเคารพร่างกายและจิตใจของตนเองและผู้อื่นอย่างไร เขาก็จะใช้ชีวิตและทำต่อคนอื่นๆ อย่างขาดความเคารพ เพราะไม่มีแบบอย่างที่ดีให้เขาซึมซับ และตระหนักว่าตัวเขาเองนั้นมีคุณค่าความสำคัญมากเพียงใดที่จะทำในสิ่งที่ดี
.
บางครั้งพ่อแม่ก็รู้สึกว่าตนเองทำตามใจลูก แต่ลูกพยายามเอาใจพ่อแม่เพื่อจะได้เป็นที่รัก จนท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจกัน หลายครั้งที่พ่อแม่รู้สึกว่าท่าทีที่ตนเองได้แสดงออก ได้กระทำต่อลูก และเป็นเช่นนั้น คือการแสดงออกซึ่งความรักแล้ว แต่ความรักนั้นไม่ได้ไปถึงลูกอย่างแท้จริง เพราะท่าทีและวิธีการเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความรัก
.
การตายของแคเรนจึงปลุกโลกให้ตื่นขึ้นมารู้จักโรคกลัวอ้วน และปลุกให้พ่อแม่ตระหนักด้วยว่า พวกเขาสำคัญต่อชีวิตของลูกมากเพียงใด การไม่แสดงออกซึ่งความรักและการครอบงำควบคุมชีวิตของลูกมีผลเสียต่อทั้งชีวิต
.
แม่เป็นผู้พบเธอนอนหมดสติในยามสายของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๓ ในบ้านของท่านเอง หัวใจเธออ่อนแอ ก่อนเสียชีวิตนั้นมีอัตราการเต้นเพียง ๑ ครั้งต่อ ๑๐ วินาที ก่อนที่เธอจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
.
.
“…now when I wake, there’s someone home
I’ll never face the nights alone
You gave me the courage I need to win, to open my heart and to let you in
And I never really knew how, until now, until now
.
No, I never really knew how
Until now”
.
…ตอนนี้เมื่อฉันตื่นขึ้น มีคนอยู่ที่บ้านแล้ว
ฉันไม่ต้องเผชิญกับค่ำคื่นเพียงลำพังอีกต่อไป
คุณมอบความกล้าเพื่อให้ฉันชนะใจตัวเอง
และเปิดหัวใจรับคุณเข้ามา
.
และฉันไม่อาจรู้เลยว่าต้องทำอย่างไร จนถึงตอนนี้ เวลานี้
.
ไม่ ฉันไม่รู้เลยจริงๆ ว่าจะทำอย่างไร
จนถึงตอนนี้”
.
(เพลง Now เพลงสุดท้ายที่เธอร้องในห้องอัดเสียงก่อนเสียชีวิต)
.
.
ตอนนี้ เราในฐานะลูกหรือพ่อแม่ต่างมีโอกาสมากกว่าสมัยก่อน เรามีโอกาสรู้มากกว่าแม่ของแคเรน และมากกว่าแคเรนด้วย ทั้งการสื่อสารและทำอย่างไรให้ความรักงอกงามในใจของเรา คลี่คลายปมที่ผูกความสัมพันธ์อันเป็นทุกข์ มีสื่อให้ศึกษาเป็นคำแนะนำและมีตัวอย่างของสิ่งที่เราต้องระวัง ให้เราศึกษามากกว่าสังคมในอดีต มิว่าฐานะลูกหรือพ่อแม่ ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะรู้และเข้าใจแล้ว
.
การโฟกัสความสมบูรณ์แบบเกินไป ความกลัว และการไม่เข้าความต้องการที่แท้จริงต่างพาเราทำร้ายกันในนามของความรัก และทำร้ายตัวเองในนามของคุณค่าชีวิต
.
ก้าวต่อไปหลังจากนี้เมื่อเห็นปัญหาแล้ว คือสำรวจตนเองและหาหนทางพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว เริ่มต้นจากตัวเราเอง ศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเข้าใจ และปรับเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน ความคาดหวังต่อตัวเองที่มากเกินไปและความกลัวข้างในมักส่งผลไปยังคนรอบข้าง ดูแลสิ่งนี้ก่อน มิว่าเราอยู่ในฐานะของลูกหรือพ่อแม่ก็ตาม
.
ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการลดความคาดหวัง ดูแลการใส่ใจความสมบูรณ์แบบ และลดการครอบงำควบคุมคนใกล้ชิดแก่ผู้อ่านในโอกาสต่อไป
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๓๓
.
ติดตามการอบรม #เขียนเปลี่ยนชีวิต
ข้อมูลอ้างอิง :
.
http://timeline2018.blogspot.com/2018/02/blog-post.html
http://www.bangkokhealth.com/health/article/โรคกลัวอ้วน-Anorexia-Nervosa-1270
https://en.wikipedia.org/wiki/Karen_Carpenter
https://www.independent.ie/life/the-real-reason-karen-carpenter-was-driven-to-anorexia-26703889.html
https://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/overly-controlling-parents-cause-their-children-lifelong-psychological-damage-says-study-10485172.html
https://www.mirror.co.uk/tv/tv-previews/karen-carpenters-demons-uncovered-fascinating-8103318
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25030793
https://www.nytimes.com/1983/10/11/science/children-who-kill-personality-patterns-are-identified.html
https://www.nytimes.com/1996/10/06/magazine/karen-carpenter-s-second-life.html
http://www.thedowneypatriot.com/the-downey-patriot-4/karen-carpenter-all-she-needed-was-love
https://www.theguardian.com/books/2010/oct/24/karen-carpenter-anorexia-book-extract
https://www.voathai.com/a/helicopter-parent-ro/4117654.html
http://worldation.com/stories/untold-story-carpenters/