“๕ แง่คิดเมื่อถูกเข้าใจผิด” คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
๑ คุณค่าไม่ได้ขึ้นกับความเข้าใจ :
.
เมื่อใดที่คนอื่นเข้าใจตัวเราผิดพลาด แล้วทำให้รู้สึกหม่นหมอง เสียกำลังใจ โกรธหงุดหงิด หรือน้อยเนื้อต่ำใจ แสดงว่าใจเรากำลังผูกคุณค่าตนเองไว้ที่มุมมองกับความคิดของผู้อื่น และการได้รับความเข้าใจ จนเป็นทุกข์
.
การใส่ใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราถือสิ่งนี้ไว้มากเกินไปจนไม่มีหลักยึดให้ใจหนักแน่นพอ หัวใจก็จะเป็นลูกบอลที่ถูกยื้อแย่งและส่งไปหาคนนั้นที คนนี้ที มิได้กลับมาหาคุณค่าที่ตนเองอย่างมั่นคง ความสุขทุกข์ก็จะขึ้นอยู่กับผู้อื่น
.
เรากำลังนำภาพที่คนอื่นมองเห็นมาเป็นเนื้อตัวเรา ทั้งที่ความคิดคนผันแปรไม่แน่นอน เมื่อใดอารมณ์ดีความคิดก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อใดอารมณ์เสียความคิดก็เปลี่ยนแปลง ยามทำถูกใจก็ยกยอชื่นชม ยามขัดใจก็หมิ่นหยามหมางเมิน
.
ตัวเราคือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ ตรงนี้ มิใช่ในดวงตาหรือความคิดใคร หากเราถือตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่คนอื่นมอง ก็เสมือนถือว่าภาพจากเครื่องฉายเป็นของจริง เมื่อใดเขาไม่สนใจไยดีหรือคิดเห็นเป็นอื่น เราก็รู้สึกด้อยค่าประหนึ่งไม่มีตัวตน
.
การถูกเข้าใจผิดมิได้ติดตราประทับไว้ที่ตัวเราแต่เพียงลำพัง คนที่ทำคุณงามความดีหลายคนย่อมเคยผ่านการถูกเข้าใจผิด หรือแม้แต่การถูกประณามหยามเกียรติ ศาสดาของศาสนาต่างๆ ย่อมเคยถูกเข้าใจผิดหรือคิดเห็นในทางลบร้ายจากผู้อื่น ก่อนที่ท่านจะก้าวผ่านด้วยสัจจะ ศรัทธา และปัญญา
.
หากพวกท่านนำคุณค่าจากสายตาผู้อื่นมาเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินคุณค่าแล้ว โลกนี้ก็คงไร้ซึ่งศาสนาพยุงความดีของมนุษย์ และไม่มีคำสอนเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์มาจนถึงทุกวันนี้
.
คุณค่าของสิ่งใดๆ มีคุณค่าในตัวมันเอง การตีตราให้ราคาจากภายนอกมิใช่สิ่งที่เที่ยงแท้และยั่งยืน เปลี่ยนแปลงได้ตามอารมณ์ สถานการณ์ และปัจจัยมากมาย เราจะเลือกฝากคุณค่าของตัวเองไว้ที่ตาชั่งเหล่านั้นหรือไม่
.
ถึงอย่างนั้นมิใช่ห้ามเราไม่รับฟังผู้อื่นเลย มุมมองจากผู้อื่นเป็นแง่คิดให้เรารับฟังและเรียนรู้ได้เสมอ แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างคุณค่าของสิ่งที่เราเป็นหรือได้ทำ กับความคิดเห็นหรือความเข้าใจจากผู้อื่น สองส่วนนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน สิ่งที่คนอื่นบอกเป็นการ “เสนอแนะ” ความคิดเห็นเป็นสิ่งนอกตัว ส่วนคุณค่าที่มีจะ “แสดงออก” จากข้างใน
.
หากใจเราเผลอทุกข์และตอกย้ำตนเองเพราะความไม่เข้าใจของใคร ขอให้เราระลึกว่าตอนนั้นเรากำลัง “ชั่งใจ” กับคุณค่าใดมากเกินไป ชั่งใจคิดและชั่งใจให้ถูก คือเลือกวางคุณค่าของตนเองไว้กับสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า แทนที่จะเป็นความคิดของคนอื่นอันไม่แน่นอน ฝึก “ช่างมัน” บ้าง
.
.
๒ เราแค่เข้าห้องใจคนละห้อง :
.
การที่อีกฝ่ายเข้าใจเราผิด มิได้แปลว่าเขาไม่ใส่ใจหรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเรา เขาอาจเดินทางเข้ามาในหัวใจเราแล้ว แต่หัวใจก็ใช่ว่ามีแค่ห้องเดียว เราเพียงหากันไม่พบ เพราะอยู่กันคนละด้านของหัวใจเท่านั้น
.
หัวใจเรามิได้แบนหรือมีเพียงห้องเดียวให้ใส่ใจ แต่มีหลายด้านของความรู้สึกให้รับรู้ อีกฝ่ายหนึ่งอาจใส่ใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับตัวเรา แต่เราเองกำลังให้ใจกับอีกเรื่องหนึ่ง จึงกลายเป็นว่าเราไม่ได้เจอกัน แม้เขาเข้ามาในใจเราแล้วก็ตาม
.
นึกถึงตอนเราเป็นเด็ก ขณะที่เราใส่ใจการเล่นซน เพื่อนผอง และความสนุกสนาน พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็เป็นห่วงเรามากนัก ท่านเข้ามาในหัวใจแล้ว แต่เราก็ไม่ได้รับรู้ความห่วงใยจากท่าน เพราะตอนนั้นเรากำลังให้พื้นที่กับเรื่องอื่นๆ อย่างเต็มที่
.
เมื่อตอนอกหัก ผิดหวังกับรักหรือเรื่องใด เพื่อนและคนใกล้ไกลเข้ามาปลอบใจ แต่ก็ยังรู้สึกเศร้าและเหงา หรือยามรู้สึกไม่มีใครรัก แม้มีใครต่อใครเข้ามาในชีวิต เราก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเราขังตัวเองไว้ในห้องหนึ่งของหัวใจ ขณะที่ใครๆ มาเยี่ยมเยือนแล้ว แต่กลับปล่อยเขาไว้ในห้องหนึ่งไม่ยอมเปิดประตูใจเข้าไปหา
.
เขา “เข้าใจผิด” มิได้แปลว่า “ไม่ได้เข้าใจ” อีกฝ่ายอาจเพียง “เข้าผิดใจ” ด้วยเขาแลเห็นและใส่ใจสิ่งอื่นในขณะนั้น อาจแลเห็นตัวเราคนละด้านกับที่หวัง หรือดูแลใจเราอีกห้องหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นสิ่งสำคัญเรื่องอื่น คนเราต่างมีเรื่องที่เปราะบางและละเอียดอ่อนแตกต่างกัน บางคนใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ อีกคนหนึ่งไม่
.
หากเราต้องการให้อีกฝ่ายมาอยู่ในห้องใจเดียวกัน เราก็ต้องสื่อสารให้ถูกต้องว่าหวังให้อีกฝ่ายใส่ใจเรื่องใด ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร
.
ตัวเราเองอาจต้องเป็นฝ่ายก้าวออกมาจากห้องที่ขังตัวเองไว้ เพื่อสื่อสารอย่างเต็มที่ มาอยู่ในจุดเดียวกันกับเขาด้วย มิใช่เรียกร้องฝ่ายเดียวให้เข้ามา หรือเล่นซ่อนหาอยู่อย่างนั้น เพื่อทดสอบว่าอีกฝ่ายใส่ใจอย่างที่ตนเองต้องการหรือไม่ เช่นนั้นแล้วเราเองที่เป็นฝ่ายปิดกั้นคนอื่นไม่ให้เข้าใจตัวเรา
.
อีกฝ่าย เข้าใจผิด มิได้แปลว่า “ไม่ได้เข้าใจ” บางทีเขาอาจเข้าใจตัวเราอีกแง่มุมซึ่งเราไม่เคยสำรวจตนแง่นั้นเลยก็เป็นได้ หรือตอนนั้นต่างฝ่ายต่างใช้ความคิดเหตุผลของตัวเอง จน “ใจไม่ได้เข้า” หากันและกัน
.
.
๓ ฝึกสื่อสารให้ตรงกับใจจริง :
.
บางครั้งเจตนาแสนดี ทว่าสิ่งที่แสดงออกและการสื่อสารกลับไม่อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกและเข้าใจเจตนาของตัวเองได้ ซ้ำร้ายอาจพาให้ความสัมพันธ์เดินทางไปยังทิศตรงกันข้ามกับที่หวัง
.
ขณะที่หัวใจเต็มตื้นด้วยรัก แต่วาจาที่แสดงออกเต็มไปด้วยคำขู่เข็ญ สิ่งที่อีกฝ่ายรับรู้ก็ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความกลัวและความโกรธ ขณะที่หัวใจร้อยไว้ซึ่งความห่วงใยและเห็นใจ แต่การกระทำที่เผยออกมากลับเป็นความพยายามควบคุมและจัดการ อีกฝ่ายก็จะรับรู้ถึงการผูกรัดบังคับ มิใช่โอบกอดเคียงข้างอย่างที่ควรเป็น
.
เมื่อใดถูกเข้าใจผิด เราต้องย้อนกลับมาพิจารณาท่าทีและการสื่อสารของตนเองก่อน เพราะการแสดงออกภายนอกจะเป็นสิ่งที่ผู้อื่นเห็นตัวเราก่อนที่จะเข้าใจความรู้สึกและเจตนาเบื้องหลัง หากสิ่งที่เราแสดงออกมาสอดคล้องกับหัวใจจริง อีกฝ่ายจะไม่ต้องคอยไขรหัสและตีความ
.
เงื่อนปมในจิตใจมักทำให้การสื่อสารและความสัมพันธ์พลอยซับซ้อนไปด้วย ความห่วงใยที่เราแสดงออกไปอาจมีความกลัวและความต้องการอื่นแอบแฝง ชนิดที่ตนเองก็มิทันสังเกต
.
เราอาจพูดถึงความคิดและวิธีการมากมาย แต่การ “เข้าใจ” มิใช่ “เข้าถึงความคิด” แต่ยังเป็นการ “รับรู้” และ “เปิดเผย” ความรู้สึกของกัน บางครั้งเราเชื่อว่าตนเอง “จริงใจ” แล้ว ด้วยเจตนาเช่นนี้จึงทำแบบนี้ แต่เราอาจไม่ได้ตั้งใจสื่อสารกับคนรอบข้างมากพอ ถึงความรู้สึก และความต้องการอย่างแท้จริง ของการกระทำต่างๆ แล้วอีกฝ่ายจะเห็น “ความจริงของใจ” เราได้อย่างไร
.
ความเข้าใจ มิใช่สิ่งที่รอให้เกิดขึ้นหรือเรียกร้องจากผู้อื่น แต่เริ่มต้นจากการลงมือทำของตัวเราเอง และความตั้งใจสื่อสารให้เหมาะสม
.
คนที่สนใจการพัฒนาการสื่อสารให้ถึงใจกันและทำให้อีกฝ่ายรับรู้ใจของตนเองมากขึ้น ควรศึกษาเรื่อง “Nonviolent Communication” หรือแปลเป็นไทยว่า การสื่อสารอย่างสันติ ซึ่งมีเนื้อหาให้เรียนฟรีในโครงการ ปัญญ์ สเปซ (www.punnspace.com)
.
.
๔ คนเรามีสิทธิ์เข้าใจไม่เหมือนกัน :
.
คนที่มองต่างมุมกับเรา ไม่ได้แปลว่าเขาเป็น “คนผิด” หรือ “เข้าใจผิด” เสมอไป การที่เราชี้ว่าใครเข้าใจผิด แสดงว่าเรากำลังใช้มุมมองของตนเองเป็นบรรทัดฐานเข้าตัดสิน ซึ่งไม้บรรทัดทางความคิดนี้อาจจะผิดก็ได้ หรือมองแค่มุมเดียวก็ได้
.
การที่หัวใจมีจุดยืนแตกต่างกัน ผ่านประสบการณ์เฉพาะตน มีความต้องการที่หวังตอบสนองไม่เหมือนกันในตอนนั้น ย่อมทำให้เห็นเรื่องเดียวกันในมุมมองแตกต่างไป
.
ความเข้าใจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความถูกหรือความผิด แต่การที่เรารู้สึกไม่พอใจหรือลำบากใจกับความเข้าใจของผู้อื่น สามารถเป็นเพราะความคิดนั้น “ไม่ถูกใจ” ตัวเราเอง มิใช่ว่า “ไม่ถูกต้อง”
.
หากเราไม่ต้องการให้คนอื่นคอยบีบบังคับให้ตนต้องคอยเชื่อหรือคิดตามผู้อื่นเสมอ คนอื่นก็มีความต้องการแบบเดียวกันได้ คือต้องการอิสระทางความคิด มีสิทธิ์ที่จะเข้าใจในมุมมองของตนเอง
.
เราเกิดมามีหน้าที่แบกรับสมองเพียงก้อนเดียว ในหัวของตนเอง สมองของผู้อื่นเป็นพื้นที่ของเขาที่จะพัฒนาและเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง ถึงแม้สิ่งที่เขาคิดอาจจะมีข้อผิดพลาดในมุมมองเราอยู่บ้างก็ตาม
.
“ความเข้าใจ” อาจไม่สำคัญเท่า “การยอมรับ” คนอื่นที่คิดเห็นเรื่องเดียวกันต่างกับเรา เขาอาจยอมรับที่เราคิดไม่เหมือนกันก็ได้ แต่เราเองได้เข้าใจเขาแล้วหรือไม่ว่า เขาคิดแบบนี้เพราะอะไร คิดแบบนี้เพราะรู้สึกและต้องการอะไร แล้วสิ่งใดในมุมมองที่เขาเห็นเป็นประโยชน์แก่เรา
.
แล้วที่สำคัญ ยอมรับได้หรือไม่ว่าคนอื่นมีสิทธิ์คิดเห็นแตกต่างจากตนเอง สมองเรามิใช่ศูนย์กลางทางปัญญาของโลก และเราเองก็มีสิทธิ์คิดผิดได้ไม่ต่างกัน
.
การยอมรับ คือการเปิดกว้างและรับฟัง ไม่แบกความเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง แม้ “เข้าใจผิดแผก” แตกต่างกันก็อยู่ร่วมกันบนโลกอย่างมีความสุขและสันติได้ ขอเพียงยอมรับซึ่งกันและกัน
.
หากไม่มีการยอมรับแล้ว ต่อให้เข้าไปอยู่ในห้องใจเดียวกัน มีอุดมการณ์ความเชื่อเดียวกันก็บาดหมางกันได้ เพราะยอมรับแต่มุมมองและตัวตนของตนอย่างเดียว
.
.
๕ คนที่ควรเข้าใจเรามากที่สุดคือตัวเราเอง :
.
การเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตัวเรา ไม่ใช่หนทางเติมเต็มใจที่ยั่งยืน ไม่มีใครที่จะสามารถมองเห็น รู้สึก และคิดแบบเดียวกันกับเราได้ทั้งหมด ต่างคนต่างมีสมองและหัวใจที่ต้องดูแล
.
บางทีเราอาจเฝ้าคอยให้มีใครสักคนยอมรับและเข้าใจเราหมดเปลือก นานจนเกินไปแล้ว แต่เราไม่เคยคิดกลับมาเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง และสร้างความเข้าใจกับผู้อื่นด้วยตัวเองเลย
.
ชีวิตไม่ใช่การเดินทางตามหาจิ๊กซอว์ที่หายไปในกล่องอื่น เราต้องหาในกล่องของตนเอง แต่หากไม่มี เฝ้าโทษสิ่งใดไปมากเท่าใด ใจเราก็ยังขาดพร่อง ต้องสร้างชิ้นส่วนที่หายไปนั้นให้กับตัวเอง
.
ใจตนเองเป็นหน้าที่เราจะต้องเรียนรู้และเข้าใจด้วยตัวเรา มิใช่รอให้คนอื่นมาเข้าใจและเฉลยให้ คนอื่นไม่ได้มีหน้าที่รับใช้ความต้องการของเรา แม้ความต้องการนั้นจะเป็นความเข้าใจก็ตาม ในเมื่อเขาเองก็ยังต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น จะเข้าใจเราบ้างไม่เข้าใจบ้างก็เป็นธรรมดา
.
แม้คิดว่าเข้าใจตนเองแล้วก็ยังต้องพึงระวัง เพราะสิ่งที่คนอื่นสะท้อนตัวเราในทางลบ มิว่าด้วยการวิจารณ์ หรือการเข้าใจผิด ก็สามารถเป็นข้อสะกิดเตือนให้เราระวัง สิ่งที่คิดว่าเข้าใจตนแล้วอาจเป็นการหลงผิดหรือคิดเข้าข้างตนเองได้
.
การรับฟังคนอื่นจึงเป็นการถ่วงดุลทางความคิด มิให้ตัวเราหลงไปกับบรรทัดฐานที่สร้างขึ้นเอง
.
การที่เรายังมีความทุกข์อยู่ หรือยังทำให้คนอื่นทุกข์อยู่ แสดงว่ายังมีแง่มุมของใจให้เรียนรู้ต่อได้ ยังเข้าใจตนเองมากกว่านี้ได้อีก ซึ่งการเข้าใจตนอย่างถึงที่สุดก็เพื่อให้คลายจากปัจจัยก่อทุกข์ทั้งปวง อันก่อเกิดขึ้นมาจากใจเรานี้เอง
.
การเข้าใจตนยังหมายถึงการกลับมาเคียงข้างเป็นเพื่อนแท้แก่ใจตัวเอง เราก็จักเรียกร้องสิ่งนอกตัวน้อยลง รักตัวเองแท้จริงมากขึ้น
.
เมื่อรักตัวเองแท้จริง ไม่นำคุณค่าชีวิตไปผูกติดกับใจใครแล้ว คนอื่นจะคิดเห็นและเข้าใจไปอย่างไรก็จะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ มิใช่เรื่องที่จะต้องนำมาน้อยเนื้อต่ำใจหรือคิดบั่นทอนตนเองและสิ่งที่กระทำ
.
ดวงตามิได้บั่นทอนหรืออุ้มชูคุณค่าของสิ่งที่เห็น มิว่ามองในมุมมองใด เข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกมิได้ผูกคุณค่าแก่ตัวเราหรือสิ่งที่เราทำเลย
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๓๕
.
? ฝึกเขียนดูแลใจ เติมความสุข คลายความทุกข์
: www.dhammaliterary.org/เขียนเยียวยา/
.
? อ่านบทความ คอลัมน์ “ไกด์โลกจิต”
: www.dhammaliterary.org/คอลัมน์–ไกด์โลกจิต/