๗ ข้อคิดเรื่องความโกรธ จากพระพุทธเจ้า
ความโกรธ มักเป็นอารมณ์ที่เราอยากให้คนอื่นแก้ไข แต่มักไม่ค่อยสังเกตและแก้ไขในตนเอง ธรรมะและข้อคิดเรื่องความโกรธไม่เพียงเหมาะแก่ผู้มักโกรธหรือหัวเสียบ่อยเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับเราที่หัวเสียไม่บ่อยด้วย ทั้งชีวิตที่มิค่อยแสดงความโกรธ แต่เพียงกระทำตามความโกรธแค่ครั้งเดียวก็อาจส่งผลต่อชีวิตชนิดที่ไม่อาจย้อนคืน
.
.
๑ ความโกรธมีหลายระดับและลักษณะ :
.
การที่เราจะรู้ทันและดูแลความโกรธเป็น เราต้องเข้าใจก่อนว่าความโกรธนั้นมีหลายแบบหลายระดับด้วยกัน บางครั้งเราปฏิเสธว่านี่มิใช่ความโกรธ แค่หงุดหงิด รำคาญ ดังพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
.
“ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความขุ่นเคือง ความเคือง ความเคืองทั่ว ความเคืองเสมอ ความชัง ความชังทั่ว ความชังเสมอ ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็นผู้โกรธ ความชัง กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง ความพยาบาท กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต นี้เรียกว่า ความโกรธ.” *[๑]
.
บางครั้งเราไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เพราะขาดการรู้เท่าทันและขาดมุมมองที่ถูกต้อง ไม่ยอมรับว่าอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดคือความโกรธ อาจคิดว่านี่แค่หงุดหงิดเล็กน้อยมิใช่ความโกรธ ทั้งที่เป็นความโกรธอยู่เช่นกัน มีการเผาลนและเป็นทุกข์อยู่ในใจเช่นกัน
.
อาการโกรธนั้นมีหลายระดับด้วยกัน สามารถแบ่งแยกย่อยได้ ๑๒ ระดับตามหลักในพระไตรปิฎก แต่สามารถแบ่งคร่าวๆ ได้ ๓ ระดับคือ โกรธระดับขุ่นข้องหมองมัวในใจ แต่ไม่แสดงอาการทางกายมาก อาจเพียงสายตาขุ่นมัว ชักสีหน้า หรือตัวสั่น , โกรธระดับแสดงออกทางวาจา และคิดร้ายแต่ไม่กระทำ และโกรธระดับทำร้ายกันหรือทำลายสิ่งของต่างๆ
.
เราต้องยอมรับความโกรธของใจตนเองให้ได้ก่อน หากไม่ยอมรับสิ่งใดแล้วเราก็จะมิอาจดูแลสิ่งดังกล่าวหรือปล่อยวางลงได้เลย ความโกรธมิว่าน้อยหรือมากต่างก็ให้ผลเสียและเป็นอกุศลเช่นเดียวกัน การไม่ยอมรับหรือปล่อยปละย่อมนำมาสู่โทษและผลเสียต่อตนเองกับคนรอบข้างมากมาย
.
.
๒ โทษของความโกรธ เหมือนสิ่งที่แช่งด่ากัน :
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบเทียบว่าเวลาผู้เป็นศัตรูต่อกันจะแช่งด่ากันและกันให้เป็นไปอย่างไร ผู้มีความโกรธก็ได้รับโทษหรือผลเสียเฉกเช่นเดียวกันกับคำแช่งด่าเหล่านั้น
.
อาทิเช่น มีผิวพรรณอันทราม หน้าตาหม่นหมอง , เป็นทุกข์แม้ยามต้องนอนหลับ แม้จะมีที่นอนอันดีก็ตาม , เสื่อมจากความเจริญ เพราะความโกรธนั้นย่อมทำให้พลั้งเผลอทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์ โดยคิดว่ามีประโยชน์ , ย่อมเสียทรัพย์ เพราะการกระทำที่ขาดสตินั้นเอง , เสื่อมจากยศ ตำแหน่ง สถานะทางสังคม แม้เคยได้มาด้วยความไม่ประมาท แต่เมื่อประมาทแล้วย่อมสามารถเสื่อมเสียได้ , ขาดจากมิตรไป เมื่อความโกรธครอบงำแล้วแม้ญาติมิตรทางสายเลือดก็ตีตัวออกห่าง และ ถึงอบายภูมิ ด้วยความโกรธครอบงำย่ำยีจิตใจแล้ว ย่อมประพฤติทุจริต
ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก *[๒]
.
เมื่อเข้าใจโทษของความโกรธแล้ว นำโทษของความโกรธมาเป็นอนุสติคอยเตือนใจแล้ว เราก็จะมีเหตุผลบอกแก่ใจตนเองว่า เหตุใดเราจึงไม่ควรโกรธ เมื่อรู้ดังนี้แล้วยังโกรธ ยังปล่อยให้กาย วาจา และใจเป็นไปตามความโกรธ จึงสมควรแก่การกล่าวว่า เป็นคนโง่ เพราะเมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ย่อมลืมคุณค่าที่แท้จริงในตนเอง และย่อมทำให้สิ่งที่ดีมีคุณค่าพังพินาศไป
.
ดังที่พระโพธิสัตว์ในนิทานชาดกกล่าวไว้ว่า
.
“อนึ่ง เมื่อเกิดความโกรธขึ้น
บุคคลย่อมไม่หยั่งรู้ประโยชน์ของตัวเอง
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
.
“คนถูกความโกรธใดครอบงำ ย่อมละทิ้งกุศลธรรม
ทำประโยชน์แม้อันไพบูลย์ให้เสียไป
ความโกรธนั้นมีเสนาน่าสะพรึงกลัว มีกำลังย่ำยี
ความโกรธของอาตมายังไม่เสื่อมคลายไปเลย มหาบพิตร
.
“เมื่อไม้แห้งเสียดสีกันอยู่ก็เกิดไฟป่า
ไฟนั้นเกิดจากไม้แห้งอันใด ก็ไหม้ไม้แห้งนั้นเอง
ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเพราะความแข่งดีของคนพาลผู้โง่เขลา
ไม่มีความรู้ แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาผลาญ
ความโกรธย่อมเพิ่มพูนแก่ผู้ใดเหมือนดังไฟที่กองหญ้าและไม้แห้ง
ผู้นั้นย่อมเสื่อมยศเหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
.
“ผู้ใดระงับความโกรธเสียได้เหมือนไฟที่ปราศจากเชื้อ
ผู้นั้นยศย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น” *[๓]
.
.
๓ ผู้โกรธตอบคนที่โกรธตนเป็นฝ่ายแย่กว่า :
.
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่พราหมณ์ ผู้ได้ยินว่าพระองค์เคยถูกด่าบริภาษด้วยวาจาที่หยาบคาย ท่านทรงอธิบายโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ดังนี้ว่า
.
ถ้าแขกผู้มาเยือนแก่เรือนของเราไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือเครื่องดื่มที่เราจัดหามาให้ แล้วสิ่งที่เตรียมมาจะเป็นของใคร ก็เป็นของเราอย่างเดิม เช่นเดียวกัน เราด่าคนที่ไม่ด่า เราโกรธคนที่ไม่โกรธ เราหมายมั่นแก่คนที่ไม่หมายมั่น การด่าและการโกรธนั้นก็เป็นของเราอยู่ฝ่ายเดียว เราก็ด่าอยู่ลำพัง โกรธอยู่ลำพัง หมายมั่นอยู่ฝ่ายเดียว หากมีการกระทำตอบย่อมเป็นการบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน การด่า การโกรธ หรือการหมายมั่นก็จะกลายเป็นของร่วมกัน *[๔]
.
การที่เราไม่รับการด่ามา ไม่รับการโกรธมา ด้วยการไม่ตอบโต้ด้วยความโกรธและอารมณ์กลับไป การด่าว่าและความโกรธเหล่านั้นก็จะอยู่ในเรือนใจของอีกฝ่ายแต่ลำพัง เผาไหม้แต่ในใจของฝ่ายที่โกรธนั้น ไม่มาสู่เรือนใจของเรา
.
“บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
บุคคลใดรู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติสงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น” *[๘]
.
พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสแนะนำว่า
.
“พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้” *[๗]
.
เราไม่สามารถชนะกิเลสของผู้อื่นได้ ด้วยกิเลสของตัวเราเอง เราไม่สามารถดับกิเลสได้ ด้วยการเติมเชื้อไฟให้แก่กิเลสนั้น การโกรธตอบมักมีความรุนแรงและส่งเสริมเชื้อไฟความขัดแย้งให้ลุกกระพือ แม้เป็นฝ่ายมีโอกาสสังเกตเห็นโทษของความโกรธมากกว่าแล้ว จึงจัดว่าเป็นฝ่ายแย่กว่าที่โกรธตอบกลับไป
.
เราอาจสงสัยว่าถ้าไม่โกรธตอบเท่ากับไม่โต้ตอบสิ่งลบร้ายที่อีกฝ่ายกระทำหรือไม่ ซึ่งมิใช่เช่นนั้น การโกรธตอบหรือการใช้อกุศลตอบโต้ความไม่ดีก็เป็นดังสงครามที่ต่างฝ่ายต่างฆ่าล้างแก่กัน เป็นผลร้ายต่อทั้งสองฝ่ายและคนรอบข้าง ท้ายที่สุดไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่เราและแก่เขาเลย
.
การใช้ความโกรธและความรุนแรงตอบโต้ เท่ากับเราได้กระทำสิ่งอกุศล ใจเราเองก็ย่อมหมองมัวด้วยความขุ่นเคือง เศร้า และอารมณ์ลบทั้งหลาย เมื่ออยู่ในอารมณ์ครอบงำใจแล้วตัวเราก็ย่อมไม่เห็นคุณค่าในตนเอง การกระทำตอบโต้ด้วยความโกรธนั้นจึงเป็นการกระทำที่บั่นทอนคุณค่าที่พึงเคารพต่อตัวเอง เท่ากับเรามิได้ปกป้องตนเองอย่างแท้จริง
.
หากแต่ว่าการไม่โกรธตอบผู้โกรธ ไม่ตอบโต้ความเลวร้ายด้วยความไม่ดี เราไม่เพียงชนะอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ยังชนะทั้งกิเลสในตัวเราและกิเลสในตัวเขาอีกด้วย ยังเป็นการกระทำที่ส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองยิ่งกว่า เราสามารถตอบโต้สิ่งลบร้ายที่กระทำต่อเราด้วยสติและปัญญาได้ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเราเองและผู้อื่น มากกว่าใช้อารมณ์และความโกรธอย่างเดียวกัน
.
.
๔ ความโกรธมีรากเป็นพิษแต่มียอดหวาน :
.
ท้าวสักกะจอมเทพทรงถามพระพุทธเจ้าว่า “บุคคลฆ่าอะไรแล้วสิจึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรแล้วสิจึงจะไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงชอบการฆ่าอะไร
อันเป็นธรรมอย่างเอก ฯ
.
“พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววาสวะ พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญ การฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษมียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก” *[๕]
.
ข้อความที่พระองค์ทรงตรัสตอบ มีนัยอยู่อย่างน้อย ๒ เรื่องที่น่านำมาใคร่ครวญต่อ อย่างแรกคือ ความโกรธมีรากเป็นพิษ แต่มียอดหวาน จุดนี้หมายถึงการกระทำตามความโกรธแล้วก็อาจมีความรู้สึกสาแก่ใจ มีความยินดีที่ได้กระทำลงไป หรือมีความรู้สึกชนะเมื่อได้ทำตามความโกรธนั้น นี่เป็นยอดหวาน ที่จิตได้ลิ้มลองจากการโกรธ ก่อนจะรู้สึกตัวว่าตนได้กระทำผิดไปอย่างไร สิ่งที่ทำตามความโกรธเลวร้ายอย่างไร และความโกรธมีโทษต่อตนเองอย่างไร นี่เป็นรากพิษของความโกรธ
.
การฆ่าความโกรธย่อมไม่เศร้าโศก เพราะเมื่อได้กระทำสิ่งที่ผิดแล้ว ย่อมรู้สึกผิด ย่อมเสียใจ และเศร้าโศกตามมา คนเราเมื่อกระทำสิ่งใดๆ อย่างขาดสติแล้ว ด้วยสำนึกผิดชอบที่มีอยู่ ย่อมทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง หรือรู้สึกผิดหวังในตนเอง ย่อมมีความเศร้าโศกเกิดขึ้น แม้จะกลบฝังไว้ภายใต้อาการท่าทีอย่างไรก็ตาม
.
หากระงับความโกรธไว้เสียแต่แรก ไม่กระทำตามความโกรธเสียแต่แรก หรือไม่แสดงความโกรธออกมาเสียแต่แรก ความเศร้าเสียใจและความผิดหวังในตนเอง ย่อมไม่มีตามมา
.
.
๕ อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะโกรธหรือไม่โกรธ :
.
นายจัณฑคามณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วเอ่ยถามพระพุทธเจ้าว่า มีปัจจัยใดที่ให้บางบุคคลเป็นคนดุ คือมีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว อันธพาล และมีปัจจัยใดที่ทำให้บางบุคคลเป็นคนสงบเสงี่ยม คือมีนิสัยไม่ดุร้าย ไม่ก้าวร้าว ไม่อันธพาล พระองค์ได้สดับคำถามแล้วจึงทรงตอบว่า
.
คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้… ละโทสะไม่ได้… ละโมหะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละราคะไม่ได้… ละโทสะไม่ได้… ละโมหะไม่ได้… คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละราคะไม่ได้… ละโทสะไม่ได้… ละโมหะไม่ได้… คนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ *[๖]
.
ตบมือข้างเดียวไม่ดังฉันใด การถูกยั่วให้โกรธฝ่ายเดียวก็มิอาจสำเร็จได้ หากไม่มีปัจจัยในจิตใจเราเองตอบรับ ซึ่งก็คือเมล็ดพันธุ์แห่งกิเลสทั้งสามได้แก่ ราคะ คือความกำหนัด เพลิดเพลิน และพอใจ มี โทสะ คือความโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ และมี โมหะ คือความหลง มัวเมา และไม่เห็นความจริง
.
เมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธ หรือ อกุศลมูล เปรียบเสมือนเมล็ดต้นไม้อยู่ในดิน ปัจจัยนอกตัวก็เหมือนกับฝนและแดด อาศัยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ต้นไม้แห่งความโกรธก็เติบโตปรากฏขึ้นมา
.
เมื่อเรารับรู้พฤติกรรมของคนอื่นและสิ่งนอกตัว นั่นคือการรับรู้ผ่านดวงตาก็ดี หูก็ดี หรืออายตนะอื่นก็ดี เมื่อรับรู้อย่างขาดสติแล้ว จิตย่อมปรุงแต่งไปตามเมล็ดพันธุ์แห่งกิเลสที่มีอยู่ภายใน หากลักษณะของสิ่งที่รับรู้มีลักษณะที่ไม่ชอบใจ การคิดหรือสังขารก็เป็นไปในทางกระตุ้นอาการโกรธให้มีมากขึ้น ให้ปรากฏออกมาผ่านกาย วาจา และใจของเราเอง
.
เมื่อละเมล็ดพันธุ์แห่งกิเลสในจิตลงได้แม้ชั่วคราวในขณะนั้น เมื่อถูกยั่วให้โกรธก็ย่อมไม่โกรธหรือไม่แสดงความโกรธออกมา เพราะไม่มีเมล็ดพันธุ์แห่งกิเลสใดถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ไม่มีการคิดหรือการปรุงแต่งที่ส่งเสริมให้มีความโกรธ
.
คนบางคนในโลกนี้ละราคะได้แล้ว… ละโทสะได้แล้ว… ละโมหะได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละราคะได้แล้ว… ละโทสะได้แล้ว… ละโมหะได้แล้ว คนอื่นจึงยั่วไม่โกรธ คนที่ละราคะได้แล้ว… ละโทสะได้แล้ว… ละโมหะได้แล้ว อันคนอื่นยั่วให้โกรธก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม *[๖]
.
พระพุทธเจ้ายังตรัสอีกว่า “พึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี คนนอกนี้เป็นคนถือเชือก” *[๗]
.
ตัวเราเองคือคนสำคัญ เป็นเหมือนสารถีคนขับรถม้าแห่งใจ เป็นผู้ที่สามารถเลือกควบคุมตน ระงับกาย วาจา และใจมิให้เป็นไปตามความโกรธ หรือปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์จนส่งผลเสียหาย คนอื่นๆ และสิ่งภายนอกตัวเป็นแค่ปัจจัยที่ส่งเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนสำคัญเฉกเช่นตัวเราเอง
.
สติคือมือที่กำเชือกคุมม้าไว้มั่น ขาดสติก็เหมือนมือหลุดจากเชือกเมื่อนั้น สมาธิคือตาคอยดูม้าและทางที่จะก้าวไป อยู่ที่เราเองแล้วว่าจะเลือกเป็นสารถีแบบใด แล้วจะขับขี่นำทางใจไปยังทิศทางไหน อยู่ในมือเราแล้ว
.
.
๖ ความโกรธเกิดจากการรับรู้โลกอย่างขาดสติ
.
ความโกรธเกิดจากสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา และเกิดจากสิ่งที่น่าปรารถนาอีกด้วย อย่างแรกนั้นสามารถสังเกตได้ง่ายว่าเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์อันไม่ชอบใจ มีการประทำของบุคคลในลักษณะที่ไม่ชอบใจ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ไม่ชอบใจ ย่อมยั่วยุให้เกิดความโกรธได้ จากสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ และไม่น่าปรารถนา
.
ความโกรธยังเกิดจากสิ่งที่น่าปรารถนา ด้วยความกลัว ความกังวล ต่อการสูญเสียและการแย่งชิง เมื่อมิอาจเป็นเจ้าของแล้วก็ย่อมเกิดความโกรธขึ้นได้ *[๑๑]
.
ความปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นสิ่งที่จิตนิยามขึ้นเอง โดยปรุงแต่งจากสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา คือความรู้สึกพอใจและไม่พอใจ ความรู้สึกเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากการรับรู้โลกคือผัสสะ ผ่านอายตนะของเราทั้งหลาย อาทิ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ
.
เมื่อรับรู้โลกนอกตัวมาปรุงแต่งเป็นผัสสะ ย่อมมีการคิดไปตามสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ซึ่งอาจมาจากอดีต เคยจดจำว่าสิ่งนี้อยู่ในข่ายน่าพอใจ สิ่งนี้อยู่ในข่ายไม่น่าพอใจ เมื่อไม่มีการรับรู้หรือผัสสะแล้ว ความพอใจก็จะไม่มี ความไม่น่าพอใจก็จะไม่มี
.
เมื่อรับรู้โลกคือสิ่งภายนอก อย่างขาดสติแล้ว เป็นไปตามกิเลสของจิตแล้ว ย่อมมีความพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น มีการปรารถนาเกิดขึ้น แล้วจึงถือเอาว่านี่เป็นของฉัน นั่นคือของฉัน หากไม่มีความปรารถนาแล้ว ความถือเอาว่าเป็นของฉันก็จะไม่มี *[๑๑] ความโกรธก็จักไม่มีตามมา
.
เมื่อเรามีสติมากพอ เราจักรับรู้โลกไปตามอย่างที่เป็น โดยไม่มีความพอใจและไม่พอใจ มิปรุงแต่งมามั่นหมายเป็นอารมณ์ มิได้ยึดถือมาเป็นของตนหรือมาเป็นตัวตน หัวใจเราจักเป็นกลางและวางจากกิเลสทั้งหลาย เพียงมีสติที่การรับรู้ ดูแลให้ทันการปรุงแต่ง เช่นความอยากและการถือมั่นทั้งหลาย
.
เท่านี้แม้เจอสิ่งที่เคยไม่พอใจก็จักวางใจและเห็นหนทางอยู่ร่วม เมื่อเจอสิ่งที่น่าปรารถนาก็จะไม่เอาใจไปเกาะเกี่ยว เพียงเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน รับรู้หรือรู้สึกก็สักแต่ว่ารับรู้หรือรู้สึก
.
เมื่อใดขาดสติ เมื่อนั้นมีตัวฉันมาผูกรัด เมื่อนั้นมีความทุกข์
.
.
๗ โกรธ เพราะอยากมีค่า อยากมีตัวตน
.
“ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่เขลา เบาปัญญา ไม่รู้จริง เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน” *[๙]
.
โทสะ หรือเมล็ดพันธุ์กิเลสแห่งความโกรธในจิตใจ เกิดจากการแข่งดี หรือเรียกว่า มานะ คือความถือตัวถือตน ความรู้สึกว่าตัวเองเด่นกว่าเขา ตัวเองด้อยกว่าเขา หรือตัวเองเท่าเทียมกันกับเขา
.
มานะก็คือการเปรียบเทียบกับคนอื่น อยากมีคุณค่าโดยอ้างอิงจากคนอื่น คือการยกตัวเทียบ คือการถือตัวถือตน ยึดติดว่าตนเองด้อยกว่า ดีกว่า หรือเท่าเทียมกันมานะทำให้จิตเมื่อเห็นว่าคนอื่นดีน้อยกว่าก็เป็นทุกข์ เผาลนด้วยการยกตัวข่ม เห็นว่าคนอื่นดีมากกว่าก็เกิดทุกข์ เผาลนด้วยความอิจฉาและหมองเศร้า แม้เห็นว่าดีเท่าเทียมกันก็ยังเป็นทุกข์ได้ เพราะต้องคอยรักษาและหวงแหนคุณค่าในตนเองให้ดีพอ
.
ความอยากดีอยากมีคุณค่าในใจมักทำให้เราพยายามทำสิ่งต่างๆ โดยเฝ้าเปรียบเทียบตนเองกับตนอื่นอยู่เสมอ หรือเชื่อมั่นอยู่ในใจตนเองว่าเรื่องนั้นฉันดีน้อยกว่า เรื่องนั้นฉันดีมากกว่า หรือดีเท่ากันมีคุณค่าเท่ากัน มานะทั้งสามแบบคือ ดีเด่นกว่า ด้อยกว่า และเท่าเทียมกันต่างเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น
.
เรามักเชื่อกันว่าหากเรามีคุณค่าเท่าเทียมกับคนอื่นแล้วเราจึงจะมีความสุข แต่เมื่อได้เท่าเทียมแล้วกิเลสก็ไม่เคยหยุดเราอยู่แค่นั้น จะยังมีความทะยานอยากอยู่เสมอ จึงเกิดเป็นความทุกข์ เพราะการแข่งดีอยู่ร่ำไป
.
เมื่อความถือตัวถือตนถูกกระทบเข้าก็เกิดความไม่พอใจ เกิดโทสะขึ้น เพราะรู้สึกด้อยกว่า เพราะยึดติดว่าตนเองดีกว่า หรืออยากให้เท่ากัน เมื่อความคิดความรู้สึกนี้ถูกกระทบ ก็กลายเป็นอาการความโกรธ และการกระทำด้วยความโกรธตามมา
.
การที่เรามีมานะคือความถือตนอยู่นี้ ทำให้ความคิดความเชื่อก็ประกอบไปด้วยมานะด้วยเช่นกัน เรียกว่า ทิฐิอันกางกั้นด้วยมานะ คือการถือผิดว่าสิ่งต่างๆ นั้นเป็นของตัวฉัน เป็นตัวตนของฉัน หรือเป็นไปเพื่อบ่งบอกคุณค่าในตัวฉัน ดังความว่า
.
“ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า … ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีรูปบ้าง เห็นรูปในตนบ้าง เห็นตนในรูปบ้าง ฯลฯ เห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง เห็นวิญญาณในตนบ้าง เห็นตนในวิญญาณบ้าง ฯลฯ” *[๑๒]
.
เมื่อมีความคิดความเชื่อว่าสิ่งต่างๆ นั้นเป็นของฉัน เป็นตัวตนฉันแล้ว หากมีใครมาแย่งไป มาก้าวก่าย มากระทำสิ่งที่พึงปรารถนาต่อสิ่งที่ว่า จิตรู้สึกเหมือนกับว่าตัวฉันได้รับการกระทำนั้นๆ ก็เกิดความไม่พอใจปรุงแต่งเป็นความโกรธและอาการโกรธตามมา
.
การที่จะละจากมานะได้นั้น ต้องใช้ความมี อุเบกขา คือการวางใจเป็นกลาง มองตัวเองและสิ่งต่างๆ ด้วยความเป็นกลาง ไม่เอาความอยากดี อยากมีคุณค่า และความเป็นตัวตนเข้าไปปะปน มองสิ่งต่างๆ ตามสภาพที่เป็นจริงโดยไม่ปรุงแต่งด้วยการถือตน สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างที่เป็น โดยไม่มีความเป็นของฉัน เป็นตัวฉัน หรือเป็นตัวตนเที่ยงแท้
.
อุเบกขา ยังหมายถึงการยอมรับตัวเราเองตามความเป็นจริง ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นจริง เมื่อวางใจเป็นกลางแล้วก็จะไม่มีความดีกว่า ดีน้อยกว่า หรือดีเท่ากัน เมื่อวางใจเป็นกลางแล้วก็จะไม่มีความพอใจและความไม่พอใจ เมื่อนั้นก็จะไม่มีความโกรธความไม่พอใจเกิดขึ้น
.
“บุคคลเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติทุกเมื่อ ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าดีกว่าเขา ไม่สำคัญว่าต่ำกว่าเขา ในโลก กิเลสอันหนาทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น” *[๑๐]
.
เพียงแค่เราวางใจเป็นกลางเท่านั้น ไม่เอาตัวตนเข้าไปสวมใส่ให้กับสิ่งใดในโลก ไม่เอาการถือตนและมาตรฐานคุณค่าใดมาแบกรับไว้ที่ตัว ไม่เปรียบเทียบตนกับใครอื่นเพื่อดีพอ มองโลกไปตามสภาพความเป็นจริง ความมืดหมองหรือกิเลสทั้งหลายย่อมไม่มาเยือนแก่ใจเรา ใจเราย่อมเป็นสุข
.
เมื่อเป็นสุขในความเป็นกลางอย่างมีสติเช่นนี้แล้ว สิ่งใดมายั่วให้โกรธก็ไม่โกรธ สิ่งใดมายั่วให้โกรธก็ไม่มีอาการความโกรธ มีเพียงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสิ่งทั้งหลายเท่านั้น
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๓
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/
*[๑] ขุททกนิกาย มหานิทเทส พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ [๓๘๔]
*[๒] โกธนาสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ [๖๑]
*[๓] จูฬโพธิชาดกที่ ๕ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
*[๔] อักโกสกสูตรที่ ๒ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ [๖๓๓]
*[๕] สักกปัญจกะที่ ๓ ฆัตวาสูตรที่ ๑ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ [๙๔๔]
*[๖] คามณิสังยุตต์ จัณฑสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ [๕๘๖]
*[๗] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ [๒๗]
*[๘] พรหมทัตตเถรคาถา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ [๓๕๘]
*[๙] จุลลโพธิชาดกที่ ๕ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ [๑๓๗๗]
*[๑๐] ขุททกนิกาย มหานิทเทส พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ [๔๑๒]
*[๑๑] ขุททกนิกาย มหานิทเทส พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ [๔๗๒]
*[๑๒] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ [๓๕๒]